Home คดีอาญา คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุม หากต่อมาให้การปฏิเสธ ศาลจะนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษได้หรือไม่

คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุม หากต่อมาให้การปฏิเสธ ศาลจะนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษได้หรือไม่

4179

คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุม หากต่อมาให้การปฏิเสธ ศาลจะนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7245/2554

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 100/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีน อาวุธปืน ซองกระสุนปืนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษา ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน อาวุธปืน ซองกระสุนปืน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้คืนอาวุธปืนและซองกระสุนปืนของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้จำเลยและนายสมานหรืออ๊อด พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังเดียวกัน เลขที่ 3329 ซอยอุดมสุข 3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1,120 เม็ด ซึ่งมีการตรวจพิสูจน์แล้วคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 26.204 กรัม ในปัญหาว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยมาสืบ 2 ปาก คือ ร้อยตำรวจเอกอรรถพล กับดาบตำรวจชวเลิศ ได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18 นาฬิกา ขณะที่พยานทั้งสองปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สถานีตำรวจภูธรตำบลสำโรงเหนือ ร้อยตำรวจเอกอรรถพลได้รับแจ้งจากสายลับว่า นายอ๊อดไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง ซึ่งพักอาศัยอยู่บริเวณตลาดเพชรรัตน์ ที่บ้านเลขที่ 3329 ซอยอุดมสุข 3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนครั้งละเป็นจำนวนมาก การซื้อขายจะติดต่อทางโทรศัพท์ ร้อยตำรวจเอกอรรถพลจึงวางแผนจับกุมโดยให้สายลับโทรศัพท์ขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายอ๊อด สายลับแจ้งว่าติดต่อซื้อได้จำนวน 220 เม็ด ราคาเม็ดละ 165 บาท นัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนเวลา 21.30 นาฬิกา ที่บริเวณร้านอาหารตามสั่งปากซอยอุดมสุข 3 โดยนายอ๊อดจะให้นางด้วงซึ่งเป็นแม่ค้าขายอาหารตามสั่งเป็นผู้นำมาส่งให้ โดยให้ข้อมูลว่านางด้วงอายุประมาณ 25 ปี รูปร่างท้วม ๆ พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับนายอ๊อด ครั้นเวลา 20.30 นาฬิกา พยานทั้งสองกับพวกและสายลับได้พากันเดินทางไปที่บริเวณตลาดเพชรรัตน์ ร้อยตำรวจเอกอรรถพลได้สั่งให้ดาบตำรวจชวเลิศและผู้ใต้บังคับบัญชาอื่นยืนปะปนกระจัดกระจายอยู่กับผู้คนบริเวณปากซอยอุดมสุข 3 ส่วนร้อยตำรวจเอกอรรถพลกับพวกอีกคนหนึ่งซุ่มอยู่ในรถยนต์ซึ่งจอดอยู่เยื้อง ๆ กับบ้านนายอ๊อด ต่อมาเวลา 21.30 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอกอรรถพลเห็นจำเลยซึ่งมีลักษณะตามที่ได้รับแจ้งเดินออกจากบ้านหลังดังกล่าวไปทางปากซอยอุดมสุข 3 ร้อยตำรวจเอกอรรถพลจึงโทรศัพท์แจ้งให้ดาบตำรวจชวเลิศกับพวกทราบ และเดินตามจำเลยไปที่ร้านอาหารตามสั่ง เมื่อจำเลยเดินไปถึงร้านอาหารดังกล่าว ร้อยตำรวจเอกอรรถพลและดาบตำรวจชวเลิศกับพวกจึงแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นตัวจำเลย จำเลยจึงได้ส่งห่อของที่อยู่ในมือขวาของจำเลยจำนวน 3 ห่อ ให้แก่ร้อยตำรวจเอกอรรถพล ห่อของดังกล่าวพันด้วยเทปกาวสีน้ำตาล เมื่อร้อยตำรวจเอกอรรถพลแกะออกดูจึงพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ดห่อหนึ่ง ส่วนอีก 2 ห่อ พบห่อละ 100 เม็ด ร้อยตำรวจเอกอรรถพลสอบถามจำเลยถึงเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว จำเลยบอกว่าเป็นของนายอ๊อดให้นำมาส่งให้แก่ลูกค้าและจำเลยบอกว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่บ้านอีก ร้อยตำรวจเอกอรรถพลจึงให้จำเลยนำไปตรวจค้นที่บ้านเลขที่ 3329 โดยจำเลยนำไปตรวจค้นที่ห้องนอนชั้นสอง จำเลยบอกว่าจำเลยและนายอ๊อดนอนอยู่ในห้องนั้น แต่จำเลยกับนายอ๊อดไม่ได้เป็นอะไรกัน เมื่อร้อยตำรวจเอกอรรถพลสอบถามว่าซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนไว้ที่ไหน จำเลยก็ไปหยิบเมทแอมเฟตามีนซึ่งใส่ไว้ในถุงพลาสติกมีหูหิ้ววางไว้ที่พื้นบริเวณหน้าห้องนอนข้าง ๆ กล่องกระดาษ ร้อยตำรวจเอกอรรถพลตรวจค้นที่ถุงดังกล่าว พบห่อเมทแอมเฟตามีนซึ่งพันด้วยเทปกาวสีน้ำตาลอีก 9 ห่อ รวม 900 เม็ด โดยจำเลยอ้างว่าเป็นของนายอ๊อดเช่นเดียวกัน พยานทั้งสองจึงจับกุมจำเลยแจ้งข้อหาเป็นคดีนี้ จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมดังนี้ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าไม่ทราบว่าของที่อยู่ในห่อเป็นอะไรนั้น ฟังไม่ขึ้น ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะทำหลักฐานขึ้นเพื่อปรักปรำจำเลย ในการที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นในบ้านพักของจำเลยนั้น จำเลยเป็นคนหยิบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 900 เม็ด ให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเองดังที่จำเลยฎีกา และฟังได้ต่อไปว่าจำเลยร่วมกับนายสมานมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกับพวกมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนตามฟ้องไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้ได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม แม้ว่ากฎหมายจะห้ามมิให้ศาลรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาพิพากษาคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 84 วรรคท้าย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 19 แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามมิให้ศาลนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษแก่จำเลย ซึ่งถือได้ว่าคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมดังกล่าวเป็นเหตุบรรเทาโทษโดยเหตุอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเหตุบรรเทาโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 วรรคสอง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม

พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือนและปรับ 666,666.67 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สรุป แม้ว่ากฎหมายจะห้ามมิให้ศาลรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาพิพากษาคดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 19 แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามมิให้ศาลนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษแก่จำเลย ซึ่งถือได้ว่าคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมดังกล่าวเป็นเหตุบรรเทาโทษโดยเหตุอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเหตุบรรเทาโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 78 วรรคสอง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments