Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดีฉ้อโกงประชาชนให้ยกฟ้อง

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดีฉ้อโกงประชาชนให้ยกฟ้อง

15571

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดีฉ้อโกงประชาชนให้ยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2557

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง ทำสัญญานายหน้ากับโจทก์กับพวกเพื่อให้โจทก์กับพวกทำหน้าที่ชี้ช่องติดต่อหาผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับพวกติดต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะซื้อที่ดิน แต่ยังไม่มีการนัดจดทะเบียนโอน จำเลยทั้งสองร่วมกันไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 3 แปลง และจำเลยที่ 2 ให้บริษัท จ. ซึ่งมี ธ. เป็นตัวแทนเป็นผู้ซื้อที่ดิน โจทก์กับพวกมีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญาเป็นเงิน 5,560,000บาท แต่จ่ายค่านายหน้าให้โจทก์เพียง 250,000 บาท การให้บริษัท จ. โดย ธ. เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลง เพื่อให้ตนได้รับค่านายหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการแสดงตนเป็นคนอื่น และการติดต่อทำสัญญากับโจทก์และพวกให้มีการซื้อขายที่ดินของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งเงินค่านายหน้าของโจทก์ ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้เท่านั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทั้งข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแสดงตนเป็นบุคคลอื่นหรือฉ้อโกงประชาชนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์และไม่มีมูลเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4732/2560

จำเลยร่วมรับรู้ถึงการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของ บ. และ ม. ตลอดมา อีกทั้งจำเลยยังเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าที่ทำการของ บ. และเช่าหมายเลขโทรศัพท์จากบริษัท ซ. เพื่อดำเนินการติดต่อธุรกิจของ บ. ซึ่งก็คือการติดต่อซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งยังสามารถทำการแทน บ. ตั้งแต่การเช่าสถานที่ตั้งที่ทำการ และซื้อหลักทรัพย์จากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และกลุ่มของ บ. แล้วนำมาจำหน่ายต่อให้แก่นักลงทุน รวมทั้งออกใบหุ้นให้แก่ลูกค้าทั่วไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับบุคคลที่ยังไม่ปรากฏชัดเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90, 289 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83

การกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ตั้งแต่โทรศัพท์หลองลวงผู้เสียหายทั้งสี่ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลียจนกระทั่งผู้เสียหายทั้งสี่โอนเงินเข้าบัญชีที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงเป็นความผิดที่กระทำนอกราชอาณาจักรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 เมื่อพันตำรวจโท อ. เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อขอให้อัยการสูงสุดมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต่อมาอัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ ถือว่าคณะพนักงานสอบสวนดังกล่าวมีอำนาจทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 วรรคหนึ่ง การสอบสวนในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2561

การชักชวนให้บุคคลทั่วไปหรืออย่างน้อยตั้งแต่สิบคนขึ้นไปมาทำการกู้ยืมเงินกันโดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน คือการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วๆไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่างๆ จึงไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราวๆไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองกับพวกแสดงข้อความหลอกลวงให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองกับพวกก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1 และ พ. หรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2559

การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4022/2558

ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคแรก สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7326/2557

การที่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 หลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยที่ 1 จึงมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้ช่วยเหลือบุคคลของตนเข้าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยไม่ต้องสอบอันเป็นการไม่ชอบ แสดงว่ามีเจตนาร้ายมุ่งหวังต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบ ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) เป็นผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่อาจร้องขอให้เรียกทรัพย์สินแทนผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3021/2557

การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นการกระทำโดยหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้เงินหรือทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวง โดยผู้กระทำความผิดมีเจตนาให้เกิดผลต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้ที่ถูกหลอกลวงแต่ละคน ส่วนเหตุการณ์ในภายหลังที่ผู้กระทำความผิดได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนอีกหลายคราว ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก หาใช่เป็นการกระทำใหม่อีกกรรมหนึ่งไม่

ผู้เสียหายทั้งสิบได้นำนากหญ้าจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไปเลี้ยงตามคำแนะนำเชิญชวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก โดยจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก คู่ละ 20,000 บาท แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 นำนากหญ้าไปเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกและจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ การได้รับเงินในครั้งต่อมาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินไปจากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 แม้จะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน รวม 10 กรรม ตามจำนวนผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22171/2555

แม้ว่าการที่ผู้เสียหายเข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เกิดจากการทราบและชักชวนกันต่อ ๆ มา และจำเลยที่ 2 ก็เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ด้วย ผู้เสียหายบางรายจำเลยที่ 2 มิได้ชักชวน ผู้เสียหายบางรายสมัครใจติดต่อกับจำเลยที่ 1 โดยตรงก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 มาตลอด และตามที่ผู้เสียหายสิบคนเบิกความยืนยันว่าในการติดต่อกับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันก็ดี ในการติดต่อจ่ายเงินค่าประกันการทำงานแก่จำเลยที่ 1 ก็ดี ส่วนใหญ่ทำที่บ้านของจำเลยที่ 2 บางครั้งก็โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เองเป็นผู้ชักชวนให้ผู้เสียหายบางรายมาร่วมทำงานกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 เป็นผู้โทรศัพท์ไปบอกผู้เสียหายหลายคนถึงกำหนดการสัมมนา ขณะมีการสัมมนาจำเลยที่ 2 ยังเข้าไปพูดคุยกับเจ้าพนักงานตำรวจที่มาสังเกตการณ์หน้าห้องอบรมในทำนองยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสัมปทานมาถูกต้อง ทั้งในขณะที่ผู้เสียหายบางรายพูดขอถอนตัวจากการทำงานร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้บอกบรรดาผู้เสียหายให้ถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและหมายเลขบัญชีธนาคารของผู้เสียหายพร้อมลงชื่อไว้กับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 จะคืนเงินให้ ดังนั้นตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมสมคบในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น โดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องทั้งสิบเอ็ดกระทง

แม้จำเลยที่ 3 จบการศึกษาด้านคหกรรมศาสตร์ มีความรู้ในการทำอาหารอย่างดี และไม่มีผู้เสียหายคนใดยืนยันว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชักชวนหรือได้รับเงินจากผู้เสียหายคนใดก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่รู้อยู่แล้วว่าตนมิใช่เจ้าหน้าที่ของการบินไทย แต่กลับยอมแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของการบินไทย และในวันดังกล่าวที่จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่วิทยากรบรรยายปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจมาสอบถามในทำนองว่า จำเลยที่ 1 มีพฤติกรรมหลอกลวงบรรดาผู้เสียหายหรือไม่ หากจำเลยที่ 3 เป็นผู้บริสุทธิ์จริงก็ไม่ควรที่จะร่วมดำเนินงานกับจำเลยที่ 1 อันเป็นการช่วยหลอกลวงโดยสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้บรรดาผู้เสียหายหลงเชื่ออีกต่อไป แต่จำเลยที่ 3 กลับร่วมดำเนินงานกับจำเลยที่ 1 ต่อไปโดยตลอด การที่จำเลยที่ 3 บอกให้ผู้ช่วยถ่ายภาพรถยนต์ของผู้เสียหายหลายรายในวันที่นำรถยนต์มาตรวจสภาพที่สนามบินสุวรรณภูมิ การไปติดต่อแม่ค้าขายปูก่อนพาบรรดาผู้เสียหายไปดูสถานที่ซื้อปูเพียง 2 วัน การที่จำเลยที่ 3 อยู่ด้วยกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ในวันนัดรับเอกสารตารางการวิ่งรถ สติ๊กเกอร์ติดรถ บัตรประจำตัว และในวันนัดตรวจสภาพรถกับวันนัดรับบัตรเติมน้ำมัน การที่จำเลยที่ 3 คอยต้อนรับผู้เข้ารับการอบรมโดยนั่งบริเวณจุดต้อนรับและอำนวยความสะดวกในการลงลายมือชื่อในเอกสารที่โต๊ะบริเวณจุดต้อนรับ กับการที่จำเลยที่ 3 รับเสื้อไปแจกแก่บรรดาผู้เสียหายที่บ้านของจำเลยที่ 2 คราวหนึ่ง และรับตารางการวิ่งรถกับสติ๊กเกอร์ไปแจกแก่บรรดาผู้เสียหายที่บ้านของจำเลยที่ 2 อีกคราวหนึ่ง เช่นนี้ย่อมบ่งชี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนในการสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้บรรดาผู้เสียหายหลงเชื่อและตัดสินใจได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 จะกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13876/2555

พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 มาตรา 4 ได้บัญญัตินิยาม คำว่า “การฌาปนกิจสงเคราะห์” หมายความว่า กิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้ากันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ หรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ตกลงเข้ากันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรเพื่อแบ่งปันกัน ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของการฌาปนกิจสงเคราะห์คือการตกลงเข้ากันของบุคคลหลายคนที่จะดำเนินกิจการดังกล่าวเสียก่อน จากนั้นกฎหมายจึงบัญญัติให้กิจการดังกล่าวต้องดำเนินการจดทะเบียนในรูปของฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียนตามมาตรา 50 เพื่อเป็นการควบคุมการดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งเป็นกิจการสาธารณประโยชน์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ก. ความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยเก็บค่าสมาชิกคนละ 2,000 บาท และเก็บเงินค่าช่วยเหลือจัดการศพจากสมาชิกศพละ 20 บาท โดยจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ใช้ชื่อว่า “ฌาปนกิจสงเคราะห์บ้านท่าช้าง” โดยมิได้จดทะเบียนเป็นสมาคมหรือขึ้นทะเบียนการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามกฎหมาย กับบรรยายฟ้องในข้อ ข. สรุปว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงต่อประชาชนด้วยคำพูดว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งฌาปนกิจสงเคราะห์ใช้ชื่อว่า ฌาปนกิจสงเคราะห์บ้านท่าช้าง โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้จัดตั้งหรือก่อตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ดังกล่าวขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีเจตนาที่จะนำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง และโดยการหลอกลวงนั้นจำเลยทั้งสองจึงได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายหลายรายที่หลงเชื่อ ชำระเงินเพื่อเป็นค่าสมาชิกและค่าจัดการศพ จากการบรรยายฟ้องดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองเพียงแต่ใช้ข้ออ้างดังกล่าวหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ เพื่อให้ได้เงินที่ประชาชนจ่ายให้แก่จำเลยทั้งสองในรูปแบบที่เรียกว่าค่าสมัครสมาชิกและค่าจัดการศพเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงมิได้มีเจตนาที่จะดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์อันเป็นองค์ประกอบความผิดข้อหาดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยไม่ได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนตามกฎหมายตามคำขอให้ลงโทษของโจทก์แต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 มาตรา 50

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15505/2553

ป.อ. มาตรา 343 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน” คำว่า “ประชาชน” หมายถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดตัวว่าเป็นผู้ใด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นคนต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น โดยคนต่างด้าวดังกล่าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงเฉพาะคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น อันเป็นการจำกัดตัวผู้ถูกหลอกลวงว่าเป็นผู้ใดมิใช่หลอกลวงบุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 ตามที่จำเลยให้การรับสารภาพเท่านั้น ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งหกว่าจำเลยได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกแล้ว และผู้เสียหายทั้งหกไม่ติดใจดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวย่อมระงับไปตาม .ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments