ข้อความที่โพสต์หมิ่นประมาทนั้น หากไม่ทราบว่าหมายถึงใคร ผู้โพสต์จะมีความผิดหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามใส่ความโจทก์ต่อผู้อ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันและผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไปอาจเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลเช่นนั้นอีก โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น เหตุเกิดที่ทั่วราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50, 80, 83, 84, 85, 86, 87, 90, 91, 326, 328 และมาตรา 332 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 มาตรา 3, 4 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 7 และข้อ 8 และสั่งให้จำเลยทั้งสามโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, ไทยรัฐ, เดลินิวส์, สยามรัฐ, เดอะเนชั่น, กรุงเทพธุรกิจ, มติชน, ข่าวสด, ประชาชาติ, แนวหน้า, บ้านเมือง, ผู้จัดการ, คมชัดลึก, บางกอกโพสต์, รวม 14 ฉบับ เป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาเอง หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในการชำระค่าโฆษณา ให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระค่าโฆษณาโดยโจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา และยึดและทำลายหนังสือพิมพ์รายวัน “ผู้จัดการ” ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 ฉบับที่ 3938 (3936) และห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 5 ปี
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อความที่โจทก์อ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ บุคคลทั่วไปที่รับทราบข้อความดังกล่าวไม่อาจทราบได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่โจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงไม่ครบองค์ประกอบของความผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ข้อความตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ที่ระบุว่า ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ข้อความดังกล่าวผู้อ่านรู้ได้ว่าหมายความถึงโจทก์ ศาลชั้นต้นควรที่จะไต่สวนมูลฟ้องให้ได้ความเสียก่อนว่าข้อความดังกล่าวหมายความถึงโจทก์หรือไม่ ไม่สมควรพิพากษายกฟ้องโดยไม่ทำการไต่สวนมูลฟ้อง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 ที่โจทก์อ้างมานั้น ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้นก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุลอย่างใดเลย ทั้งสถานที่ทำงาน กองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใด บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติม ทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่ และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบความหมายจากการที่บุคคลนั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง หาได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ท้ายฟ้องไม่ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ลำพังแต่ข้อความที่ลงพิมพ์ตามฟ้องไม่พอฟังได้ว่าเป็นตัวโจทก์ คดีไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกต่อไปแล้วพิพากษายกฟ้องโดยไม่ทำการไต่สวนมูลฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
สรุป
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะและความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามที่โจทก์อ้างมานั้น ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ และข้อความว่า “ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณ” นั้นก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุก็เป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใด บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากการสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่ และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบความหมายจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง หาได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ท้ายฟ้องไม่ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์
สรุป สั้น ต้องทราบหรือรู้ตัวแน่ชัดว่าหมายถึงใคร บุคคลทั่วไปต้องทราบได้
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th