Home คดีอาญา ความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ยอมความได้หรือไม่

ความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ยอมความได้หรือไม่

17205

ความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ยอมความได้หรือไม่ หากแจ้งความร้องทุกข์โดยไม่ได้มอบหมายให้ดำเนินคดี เพียงแต่ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานอัยการมีอำนาจฟ้องหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6644/2549

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 326, 328

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า? ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 333 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง แต่ปรากฏจากเอกสารในหน้าแรกสรุปความได้ว่า ผู้เสียหายทั้งสามรวมทั้งบุคคลอื่นอีก 7 คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งไว้เป็นหลักฐานว่าเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2544 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยไปหานางสุจินตนาและขอร้องให้นางสุจินตนาไปขอล่าลายมือชื่อชาวบ้านให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นหลักฐานร่วมกันขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลป่าแดดและคณะครูซึ่งมีผู้เสียหายทั้งสามรวมอยู่ด้วยให้ย้ายไปที่อื่น โดยบอกว่าคณะครูดังกล่าวมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และผู้เสียหายทั้งสามได้นำเอกสารเป็นบันทึกข้อความลงวันที่ 27 มีนาคม 2544 เรื่อง ขอให้โยกย้ายครูที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม มามอบให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบด้วย และในหน้าที่สองระบุว่าจึงมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป ซึ่งกรณีเชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามได้แจ้งความเพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 เท่านั้น เมื่อข้อความในเอกสารระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

สรุป ยอมความได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments