Home คดีอาญา หลักเกณฑ์ใดบ้าง ที่ศาลฎีกาใช้พิจารณา ข้อความที่โพสต์ มีความผิด ฐานหมิ่นประมาท หรือไม่

หลักเกณฑ์ใดบ้าง ที่ศาลฎีกาใช้พิจารณา ข้อความที่โพสต์ มีความผิด ฐานหมิ่นประมาท หรือไม่

4526

หลักเกณฑ์ใดบ้าง ที่ศาลฎีกาใช้พิจารณา ข้อความที่โพสต์ มีความผิด ฐานหมิ่นประมาท หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14169/2557

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50, 83, 90, 91, 326, 328, 332 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามโฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ พิมพ์ไทยและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน โดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ห้ามจำเลยทั้งสามประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์รายวัน “พิมพ์ไทย” ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสามทั้งหมด

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล (ที่ถูก เฉพาะข้อหาหมิ่นประมาท) ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว (ที่ถูก ส่วนข้ออื่นให้ยกฟ้อง)

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งสามมิได้กระทำผิดจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 100,000 บาท และจำเลยที่ 3 ให้จำคุก 6 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทมาตรา 30 ด้วย) และให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นัดถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาบางส่วนในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา กับให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทั้งหมด ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับราชการตำรวจ มีชื่อเล่นว่า ก๊อต ขณะเกิดเหตุมียศ ดาบตำรวจ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทหนังสือพิมพ์เสียงพิมพ์ไทยรายวัน จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ซึ่งออกจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ในหน้า 5 คอลัมน์ police วาไรตี้ ซึ่งเป็นคอลัมน์ของนายจารึก เป็นผู้เขียน นายจารึกเขียนข้อความว่า “ชาวบ้านอำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ ร้องเรียนมาว่าในละแวกบ้านและบริเวณใกล้เคียงมีเยาวชนติดยาบ้าจำนวนมาก ผู้ขายก็เดินขวักไขว่…

ผู้ร้องระบุว่าเด็กที่ติดและเด็กที่เป็นคนขาย ยืนยันว่า ตำรวจ เป็นผู้ส่งยาบ้าให้เอเย่นต์ด้วยตนเอง มีการร้องเรียนไปที่โรงพักปะคำ แต่เรื่องก็เงียบ เพราะคนเป็นตำรวจเอามาปล่อยเอง โดยระบุ ชื่อ ดาบก๊อต อย่างนี้ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และผู้กำกับ สภ.ปะคำ จะรู้เห็นกับนายดาบคนนี้หรือไม่ ไม่ทราบ หากจะให้ดีควรสืบสวนหาตัวตำรวจมือปล่อยยาเสพติดรายนี้ มาดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันข้อครหาจากชาวบ้านครับผม” สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตให้ฎีกา ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้าม แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาข้อนี้ของโจทก์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย เพราะในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย หน้า 6 ระบุผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ไว้ชัดเจนว่า บริษัทหนังสือพิมพ์เสียงพิมพ์ไทยรายวัน จำกัด ซึ่งบริษัทมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด แต่โจทก์คงฎีกาโดยให้เหตุผลเพียงว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพราะเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยรายวัน ไม่ได้โต้แย้งการฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยว่าไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างไร ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีโจทก์ ภริยาโจทก์และดาบตำรวจสมเกียรติ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อผู้อ่านได้อ่านข้อเขียนแล้วย่อมเข้าใจว่า โจทก์ซึ่งรับราชการเป็นตำรวจและมีภริยารับราชการเป็นครูเป็นผู้ค้าเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 3 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งข้อนำสืบของโจทก์ เพียงแต่นำนายจารึกผู้เขียนข้อความมาเป็นพยานเบิกความว่า เป็นผู้เขียนเพราะได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้าน เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการใช้ข้อความนั้น ต้องพิจารณาข้อความดังกล่าวว่า เมื่อวิญญูชนโดยทั่วไปได้พบเห็นและอ่านข้อความแล้ว จะส่งผลให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อความที่นายจารึกเขียนจะเห็นได้ว่า ความหมายของข้อความเป็นการแสดงว่าผู้เขียนยืนยันข้อเท็จจริงและเชื่อตามหนังสือร้องเรียนที่นายจารึกอ้างว่าได้รับจากชาวบ้านว่า โจทก์เป็นคนนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งแก่ผู้จำหน่าย โดยผู้เขียนและจำเลยที่ 3 ไม่ได้ใส่ใจว่าตรวจสอบว่า เป็นความจริงและจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ทั้งต่อมาโดยผลของการตีพิมพ์ข้อความยังเป็นเหตุให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาไม่ไว้วางใจและตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบอาชีพรับราชการไม่พึงปรารถนา แม้ผลการสอบสวนจะไม่มีความผิดแต่ก็จะมีมลทินมัวหมอง และอาจจะมีผลต่อความก้าวหน้าในชีวิตราชการอีกด้วย ข้อความย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นบรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจ จัดทำ และควบคุมข่าวและข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยต้องถือเป็นตัวการร่วมรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์และหมิ่นประมาทโจทก์ด้วย

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นและเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า นายจารึกเบิกความว่า ไม่รู้จักโจทก์ ไม่รู้ว่าดาบก๊อตมีตัวตนหรือไม่ ไม่ได้ตรวจสอบว่าหนังสือร้องเรียนเป็นความจริงหรือไม่ และไม่ได้เก็บหนังสือร้องเรียนไว้ อันแสดงว่า ผู้เขียนไม่ได้มีข้อมูลหรือพฤติการณ์ใด ๆ ที่จะส่อแสดงว่าที่อำเภอปะคำมีตำรวจชื่อดาบก๊อตนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้ชาวบ้านจำหน่าย ในฐานะเป็นสื่อมวลชน เมื่อมีหนังสือร้องเรียนซึ่งไม่ได้ลงชื่อผู้ร้องเรียนเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ข้อมูลในการกล่าวหาโจทก์ที่ได้มาเพียงเท่านี้ วิญญูชนย่อมทราบได้ว่าอาจมีการกลั่นแกล้งกัน จำเลยที่ 3 ต้องใช้ความระมัดระวังในการเสนอข่าวมากเป็นพิเศษ จะถือว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วจะเสนอข่าวอย่างใดก็ได้นั้นมิได้ มิฉะนั้นอาจจะเป็นช่องทางให้บุคคลบางคนบางกลุ่มใช้สื่อในการทำลายชื่อเสียงกันและย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบอีกด้วย การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 83 จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหาย 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยที่ 3 กลับตัวเป็นพลเมืองดีสักครั้ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์คำพิพากษาบางส่วนในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยรายวันติดต่อกัน 3 วัน โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หลักเกณฑ์ที่ศาลใช้ในการพิจารณา

1.ศาลพิจารณาว่าข้อความที่จำเลยใส่ความนั้น เมื่อบุคคลทั่วไปพบเห็นแล้วเป็นการใส่ความที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือไม่

2.ศาลพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยนั้น เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหรือไม่ และเป็นการกระทำผิดหรือไม่

3.ศาลพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยนั้น มีเหตุยกเว้นความผิดหรือไม่

สรุป

ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการใช้ข้อความ ต้องพิจารณาข้อความว่า เมื่อวิญญูชนโดยทั่วไปได้พบเห็นและอ่านข้อความแล้ว จะส่งผลให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อความที่ จ. เขียนเห็นได้ว่า ความหมายของข้อความเป็นการแสดงว่าผู้เขียนยืนยันข้อเท็จจริงและเชื่อตามหนังสือร้องเรียนที่ จ. อ้างว่าได้รับจากชาวบ้านว่า โจทก์เป็นคนนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งแก่ผู้จำหน่าย โดยผู้เขียนและจำเลยที่ 3 ไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบว่า เป็นความจริงและจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ทั้งต่อมาโดยผลของการตีพิมพ์ข้อความยังเป็นเหตุให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาไม่ไว้วางใจและตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบอาชีพรับราชการไม่พึงปรารถนา แม้ผลการสอบสวนจะไม่มีความผิดแต่ก็จะมีมลทินมัวหมอง และอาจะมีผลต่อความก้าวหน้าในชีวิตราชการอีกด้วย ข้อความดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นบรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจ จัดทำ และควบคุมข่าวและข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต้องถือเป็นตัวการร่วมรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์และหมิ่นประมาทโจทก์

จ. ผู้เขียนข่าวไม่รู้จักโจทก์ ไม่รู้ว่าดาบ ก. มีตัวตนหรือไม่ ไม่ได้ตรวจสอบว่าหนังสือร้องเรียนเป็นความจริงหรือไม่ และไม่ได้เก็บหนังสือร้องเรียนไว้ แสดงว่า ผู้เขียนไม่ได้มีข้อมูลหรือพฤติการณ์ใด ๆ ที่จะส่อแสดงว่า ที่อำเภอปะคำมีตำรวจชื่อดาบ ก. นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้ชาวบ้านจำหน่าย ในฐานะเป็นสื่อมวลชน เมื่อมีหนังสือร้องเรียนซึ่งไม่ได้ลงชื่อผู้ร้องเรียนเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ข้อมูลในการกล่าวหาโจทก์ที่ได้มาเพียงเท่านี้ วิญญูชนย่อมทราบได้ว่าอาจมีการกลั่นแกล้งกัน จำเลยที่ 3 ต้องใช้ความระมัดระวังในการเสนอข่าวมากเป็นพิเศษ จะถือว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วจะเสนอข่าวอย่างใดก็ได้นั้นมิได้ มิฉะนั้นอาจจะเป็นช่องทางให้บุคคลบางคนบางกลุ่มใช้สื่อในการทำลายชื่อเสียงกันและย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบด้วย การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิด.

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments