Home คดีอาญา ประเด็นสำคัญเขียนอุทธรณ์จำเลย การลดโทษในความผิดหลายกรรม ศาลมีหลักการคิดลดโทษอย่างไร

ประเด็นสำคัญเขียนอุทธรณ์จำเลย การลดโทษในความผิดหลายกรรม ศาลมีหลักการคิดลดโทษอย่างไร

14183

ประเด็นสำคัญเขียนอุทธรณ์จำเลย การลดโทษในความผิดหลายกรรม ศาลมีหลักการคิดลดโทษอย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2561

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341 และให้จำเลยคืนเงิน 350,400 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กระทงแรกจำคุก 1 ปี 8 เดือน กระทงที่สองจำคุก 4 เดือน รวมสองกระทง จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 350,400 บาท แก่ผู้เสียหาย ปรากฏว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยชำระเงินคืนจำนวน 300,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และเมื่อจำเลยได้ชำระคืนให้แก่ผู้เสียหายแล้วจำนวน 67,000 บาท จึงให้จำเลยคืนเงินจำนวน 233,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายมอบเงินแก่จำเลยด้วยวิธีการใด อย่างไรให้ชัดแจ้ง ทั้งที่จำเลยและผู้เสียหายมีภูมิลำเนาต่างกันคนละจังหวัด และโจทก์บรรยายฟ้องตอนท้ายว่า คดีนี้ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจำเลยภายในอายุความตามกฎหมายแล้ว โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายทราบหรือรู้ถึงการกระทำผิดเมื่อใด และร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวนเมื่อใด ภายในเวลา 3 เดือน ตามกฎหมาย ให้ปรากฏชัดว่าไม่ขาดอายุความร้องทุกข์ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น เห็นว่า ปัญหาที่จำเลยอ้างเป็นเรื่องรายละเอียดที่ต้องต่อสู้และนำสืบกันในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยเห็นว่าการบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงต่อสู้ก็ย่อมยกขึ้นมาต่อสู้ได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพก็เท่ากับไม่มีข้อต่อสู้นี้และไม่มีปัญหาให้ต้องมีการนำสืบกัน จำเลยจะอ้างเอาเองว่าโจทก์ต้องบรรยายฟ้องอย่างไรจึงจะชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาอีกหาได้ไม่ ทั้งพิจารณาตามฎีกาของจำเลยดังกล่าวก็แสดงว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และไม่ปรากฏว่าจำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงต่อสู้แต่อย่างใด จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์อ่านโดยรวมแล้วเป็นคำมั่นทางแพ่งของจำเลยซึ่งกล่าวต่อผู้เสียหายว่าจะนำเงินไปซื้อตั๋วเครื่องบินให้ผู้เสียหาย ไม่เป็นความผิดทางอาญานั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเท่ากับจำเลยอ้างว่า จำเลยได้กล่าวต่อผู้เสียหายว่าจะนำเงินไปซื้อตั๋วเครื่องบินให้ผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงเชื่อซื้อตั๋วเครื่องบินจากจำเลยอันเป็นความเท็จ อันเป็นการขัดแย้งกับที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และไม่ปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง, 185 วรรคหนึ่ง อย่างไร จึงไม่ใช่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า ผู้เสียหายต้องการเดินทางไปกลับครั้งเดียวจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น เห็นว่า ฟ้องของโจทก์บรรยายอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยได้กระทำความผิดโดยต่างการกระทำ เจตนา วันเวลา ข้อเท็จจริง และมีความหนักเบาแห่งการกระทำความผิดแตกต่างกัน และแบ่งแยกได้เป็นสองกรรม จึงเป็นความผิดสองกรรมแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายบทเดียวกัน ไม่ใช่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบทเดียวหรือเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังจำเลยฎีกา ทั้งจำเลยจะอ้างเอาการกระทำและเจตนาของผู้เสียหายที่ต้องการเดินทางไปกลับประเทศญี่ปุ่นครั้งเดียวกัน อันไม่ใช่เป็นเรื่องการกระทำและเจตนากระทำความผิดของจำเลย มาเป็นผลให้การกระทำความผิดของจำเลยเหลือเพียงกรรมเดียวหาได้ไม่ สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลดโทษให้จำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษกระทงแรกจำคุก 1 ปี 8 เดือน กระทงที่สองจำคุก 4 เดือน รวมสองกระทงจำคุก 2 ปี ก่อนที่จะลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี โดยไม่ได้ลดโทษให้ในแต่ละกระทงก่อนเป็นกระทงแรกจำคุก 10 เดือน กระทงที่สองจำคุก 2 เดือน รวมเป็นจำคุก 12 เดือน ซึ่งเป็นคุณและมีระยะเวลาน้อยกว่าจำคุก 1 ปี นั้น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีนี้จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลดโทษให้จำเลย แทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าการลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน แต่ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ดังนั้นการกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 366 วัน หรือ 365 วัน สุดแท้แต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น

ส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า อาชีพซื้อขายตั๋วโดยสารเครื่องบินของจำเลยต้องอาศัยความเชื่อถือไว้วางใจอย่างสูง เพราะผลร้ายการกระทำจะส่งผลกระทบต่อผู้เสียหายร้ายแรงยิ่งกว่าจำนวนเงินที่จำเลยได้ไป และยังมีผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง ทำให้คนในสังคมขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความเสียหายของผู้เสียหายคดีนี้เห็นได้ชัดว่ามีมากกว่าจำนวน 350,400 บาท เสียอีก แต่ผู้เสียหายยอมลดเงินที่จำเลยจะต้องชดใช้คืนเหลือเพียงจำนวน 300,000 บาท และให้จำเลยผ่อนชำระ จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว แต่นับเวลาตั้งแต่จำเลยกระทำความผิดคือ เดือนพฤษภาคม 2556 จนถึงปัจจุบันจำเลยชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายเพียงจำนวน 147,000 บาท เท่านั้น คงเหลืออีกจำนวน 153,000 บาท ทั้งที่เป็นเวลาผ่านไปแล้วหลายปี เห็นได้ว่าจำเลยพยายามประวิงการชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายมาโดยตลอด ทำความเสียหายแก่ผู้เสียหายอย่างไม่สิ้นสุดเสียที ทั้งที่ความเสียหายดังกล่าวเป็นเพียงความเสียหายเพียงบางส่วน จำเลยก็หาได้พยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดอย่างเต็มที่ แล้วยังพยายามยกการชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวมาเป็นเหตุขอให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย แสดงถึงความไม่สำนึกของจำเลยอีกด้วย ส่วนที่จำเลยอ้างเหตุจำเป็นส่วนตัวของจำเลยขึ้นมาอ้างนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยก็ต้องตระหนักรู้ดีอยู่ก่อนแล้วว่าจะได้รับผลร้ายแห่งการกระทำความผิดเช่นใด แต่จำเลยยังกระทำความผิดเช่นนี้ ยิ่งแสดงว่าจำเลยไม่เกรงกลัวความผิดและเคารพยำเกรงกฎหมายเลย จึงไม่ใช่เหตุผลที่จำเลยจะยกขึ้นมาอ้างเพื่อขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยคดีนี้ได้ ในเมื่อพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยและตามรูปคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษและไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากพอแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยวางเงินชดใช้แก่ผู้เสียหายเพิ่มขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 จำนวน 50,000 บาท และวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 จำนวน 30,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท จึงเหลือเงินที่จำเลยจะต้องชดใช้คืนแก่ผู้เสียหายอีกจำนวน 153,000 บาท เท่านั้น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 341 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่โทษปรับที่บัญญัติใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง

พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กระทงแรกจำคุก 1 ปี 8 เดือน กระทงที่สองจำคุก 4 เดือน ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงแรกจำคุก 10 เดือน กระทงที่สองจำคุก 2 เดือน รวมเป็นจำคุก 12 เดือน ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 153,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

สรุป ศาลต้องลดเป็นกระทงก่อนและจึงรวมโทษ

สรุป ยาว เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลชั้นต้นต้องลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ เพราะ ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า “หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน…” การกำหนดโทษ 12 เดือน จึงเท่ากับ 360 วัน แต่หากรวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุก 2 ปี แล้วจึงลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่า

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments