Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ที่สำคัญ เกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ที่สำคัญ เกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1

18845

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ที่สำคัญ เกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1

หลักกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2412/2562

โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งด้วย เมื่อโจทก์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และขอให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว คดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาย่อมไม่ต้องห้ามฎีกา โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่ง

แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6” แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึงผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างเกินกว่าความหมายของผู้เสียหายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) ถือได้ว่าขัดกัน การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44 /1 จึงไม่ต้องถือความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น” ทั้งการที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายไม่อาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่พนักงานอัยการได้เรียกแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และ 44/1 วรรคสาม ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ทำให้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ทั้ง มาตรา 44/1 วรรคสอง ก็บัญญัติความว่า…. ถือว่าคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ย จึงใช้สิทธิในคดีส่วนแพ่งได้ และคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อคดีส่วนแพ่งโจทก์ร่วมกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นพิพากษายอมความแล้ว ซึ่งคู่ความมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอม โดยจำเลยอุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนอาญาขอให้รอการลงโทษเท่านั้น คดีส่วนแพ่งจึงยุติและต้องบังคับไปตามคำพิพากษาตามยอม ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบที่วินิจฉัยให้เฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 84/2562

การที่จำเลยวางเงินโดยชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายต่อศาล ย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงว่าจำเลยได้พยายามบรรเทาความเสียหายอันเป็นผลที่เกิดจากจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย เพื่อประกอบดุลพินิจของศาลในการพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานเบาด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ได้นำเรื่องการวางเงินของจำเลยดังกล่าวมาเป็นเหตุบรรเทาโทษให้แก่จำเลย ทั้งการวางเงินเพื่อให้ผู้เสียหายมารับไปนั้น ก็เป็นการแสดงเจตนาอยู่ในตัวแล้วว่าจำเลยจะไม่ถอนเงินออกไปหากผู้เสียหายยังประสงค์จะรับเงินนั้น การที่ผู้เสียหายยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวไปทันทีหลังจากที่จำเลยนำมาวางเพราะผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าอยู่ มิได้หมายความว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์ที่จะรับเงินดังกล่าว

ส่วนการที่ศาลฎีกาพิพากษาว่า พฤติการณ์ของผู้เสียหายเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมาตรา 30 และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 44/1 ก็เป็นกรณีที่ศาลได้พิพากษาในส่วนการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญา หาได้เกี่ยวกับการวางเงินเพื่อบรรเทาผลร้ายและชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยให้แก่ผู้เสียหาย อันเป็นเรื่องค่าสินไหมทดแทนความรับผิดในทางละเมิดไม่ ผู้เสียหายจึงมีสิทธิรับเงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2562

การยื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของทายาทแต่ละคนที่จะพึงเรียกจากผู้กระทำละเมิดต่อผู้ตาย เมื่อ ศ. ซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยมีอายุ 20 ปี บริบูรณ์ และพ้นจากภาวะผู้เยาว์แล้วมิได้ยื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตายที่ 3 ซึ่งเป็นบิดาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ร่วมที่ 3 ซึ่งเป็นมารดายื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะแทนตน โจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายดังกล่าวแทน ศ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2561

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 อยู่ในอำนาจปกครองดูแลของผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา แม้ผู้ร้องที่ 2 บอกให้ผู้ร้องที่ 1 เดินทางกลับบ้านพักด้วยตนเองตามลำพัง ผู้ร้องที่ 1 ก็ยังอยู่ในความปกครองของผู้ร้องที่ 2 ตลอดเวลา การที่จำเลยดึงแขนผู้ร้องที่ 1 แล้วพาเข้าไปป่าละเมาะเพื่อล่วงเกินทางเพศผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้จำเลยพาผู้ร้องที่ 1 เข้าไปที่ป่าละเมาะแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพาผู้ร้องที่ 1 ออกไปหรือแยกไปจากผู้ปกครองดูแลของผู้ร้องที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร อันทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้ร้องที่ 2 ที่มีต่อผู้ร้องที่ 1 ถูกรบกวนหรือกระทบกระเทือน ผู้ร้องที่ 2 ย่อมได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีความผิดพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก บิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร ผู้ร้องที่ 2 จึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322 – 2323/2561

ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กำหนดเงื่อนไขสำคัญว่า ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้นั้น ผู้เสียหายต้องมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย

จำเลยเป็นเจ้าพนักงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ในขอบเขตแห่งการที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ให้แก่มหาวิทยาลัย ร. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยจึงได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ที่บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีที่ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้” โดยผลของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ได้ และย่อมส่งผลพลอยทำให้ผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1

การมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วม กับสิทธิของโจทก์ร่วมในการยื่นคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นหลักการคนละเรื่องกัน และแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องตามมาตรา 44/1 ของโจทก์ร่วมไว้พิจารณา โดยจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้าน ก็หาตัดอำนาจศาลอุทธรณ์ที่จะยกปัญหาเรื่องอำนาจยื่นคำร้องขอตามมาตรา 44/1 ดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยไม่ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะมิได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2561

การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งใหม่เป็นรับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลยที่ว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไว้พิจารณาและเมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้ร้องแก้ฎีกาก่อน โดยเห็นว่าการพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในคดีอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมาบังคับใช้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ไม้ตีจำเลยบริเวณท้ายทอยแล้วผู้ร้องเข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 โดยเข้าห้ามมิให้จำเลยใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 เข้าแย่งและปัดมีดจากมือจำเลย ทำให้มีดพลาดแทงถูกบริเวณท้องด้านซ้ายของผู้ร้อง มีดปักคาอยู่ พฤติการณ์แห่งคดีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลยด้วยการใช้ไม้ตีจำเลยที่บริเวณท้ายทอย ผู้ร้องจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ เมื่อผู้ร้องได้มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2561

ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี บ. มารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บ. สองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่ บ. จะได้รับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำของจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วร่วมกันใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองวิ่งหลบหนีไปทางบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน จำเลยที่ 1 ได้ส่งอาวุธมีดที่ใช้ก่อเหตุให้จำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 2 โยนอาวุธมีดทิ้งลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสียห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดของกลางไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นนำมารับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนั้นมาวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ย่อมเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8878/2560

ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ระบุว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในการกระทำความผิดต่อร่างกาย จิตใจ เสื่อมเสียเสรีภาพและชื่อเสียง เมื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวฟังได้เบื้องต้นว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะได้ค่าสินไหมทดแทนที่ตนเองได้รับความเสียหายในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะบิดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโจทก์ร่วม มีความหมายเท่ากับความปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ร่วมถูกกระทบกระเทือนทำนองเดียวกับเสรีภาพของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหาย แต่ได้เขียนคำร้องในฐานะประชาชนที่ไม่เข้าใจกฎหมายถ่องแท้ จึงเขียนทำนองเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนโจทก์ร่วม ทั้งศาลชั้นต้นก็ไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขคำร้องให้ชัดเจนตามมาตรา 44/1 วรรคสอง จะถือเป็นความผิดของผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้ ทั้งปัญหาตามมาตรา 44/1 เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจกำหนด ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8658/2560

สิทธิในการได้รับค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาผู้ตายกับเด็กหญิง ธ. และเด็กชาย อ. บุตรทั้งสองของผู้ตายจะเรียกจากผู้ทำละเมิดเป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคน โจทก์ร่วมเป็นย่ามิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนเฉพาะคดีของบุตรทั้งสองของผู้ตายอันจะถือได้ว่ามีสิทธิยื่นคำร้องในนามบุตรของผู้ตายได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งมารดาของบุตรทั้งสองของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะแทนบุตรทั้งสองของผู้ตายได้ คงมีสิทธิเฉพาะในส่วนของตนเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนที่โจทก์ร่วมขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขาดไร้อุปการะแทนบุตรทั้งสองของผู้ตายด้วย จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2560

แม้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติว่า “การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง” การที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโดยกำหนดให้รัฐ (พนักงานอัยการ) และผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีส่วนแพ่งรวมไปกับคดีอาญาและให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งไปในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องกันใหม่ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าในบางกรณีเขตอำนาจปกติของศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นได้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายประสงค์จะยกเว้นให้ทำได้ ดังเช่นพนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หรือผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่งหรือไม่ และผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้

จำเลยยักยอกทรัพย์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินโดยไม่ให้ดอกเบี้ยก่อนฟ้องจึงไม่ชอบ

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments