Home คดีอาญา โจทก์ร่วมอุทธรณ์เพียง ขอให้ลงโทษหนักขึ้นโดยไม่รอการลงโทษ ศาลจะลงโทษโดยกำหนดโทษจำคุกสูงขึ้นได้หรือไม่

โจทก์ร่วมอุทธรณ์เพียง ขอให้ลงโทษหนักขึ้นโดยไม่รอการลงโทษ ศาลจะลงโทษโดยกำหนดโทษจำคุกสูงขึ้นได้หรือไม่

10016

โจทก์ร่วมอุทธรณ์เพียง ขอให้ลงโทษหนักขึ้นโดยไม่รอการลงโทษ ศาลจะลงโทษโดยกำหนดโทษจำคุกสูงขึ้นได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2550 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทำร้ายร่างกายนายจีรนพ ผู้เสียหาย โดยชกต่อยที่บริเวณใบหน้าเป็นเหตุให้ลูกตาด้านซ้ายแตกต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297

จำเลยให้การรับสารภาพ

ระหว่างพิจารณานายจีรนพ ผู้เสียหาย โดยนายชูชีพ บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต

โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,334,986 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยยื่นคำให้การขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาไปก่อน แล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลัง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 19 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยได้นำเงินจำนวน 20,000 บาท มาวางศาลอันเป็นการบรรเทาผลร้าย ประกอบกับขณะกระทำผิดจำเลยยังเป็นนักศึกษาและกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

โจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 หนึ่งในสาม จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ไม่รอการลงโทษไม่คุมความประพฤติ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้น9ho

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยชกผู้เสียหายที่บริเวณตาไป 1 ครั้ง โดยไม่ได้กระทำซ้ำหรือใช้อาวุธอื่นทำร้ายผู้เสียหายขณะเกิดเหตุอายุเพียง 19 ปีเศษ กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ชั้นปีที่ 2 ด้วยวัยที่ยังคึกคะนอง จึงอาจขาดความยับยั้งชั่งใจในการกระทำผิด ประกอบกับระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งทางแพ่งและอาญา นับว่าจำเลยได้รู้สำนึกในความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น การต้องโทษจำคุกระยะสั้นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 นอกจากจะไม่เกิดผลในการฟื้นฟูแก้ไขความประพฤติของจำเลยแล้วยังทำให้จำเลยมีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยากที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดีประกอบสัมมาชีพโดยสุจริตต่อไปได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ เพื่อให้มีเจ้าพนักงานคอยแนะนำ ช่วยเหลือ ตักเตือน หรือสอดส่องดูแลน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

อนึ่ง โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นโดยไม่รอการลงโทษ เท่ากับโจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษเพียงประการเดียว มิได้อุทธรณ์ขอให้ลดโทษให้น้อยลงโทษและกำหนดโทษจำคุกให้สูงขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยน้อยลงเหลือหนึ่งในสามและกำหนดโทษจำคุกจำเลยสูงขึ้น จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยโดยที่โจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

สรุป

โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นโดยไม่รอการลงโทษ เท่ากับโจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษเพียงประการเดียว มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษให้น้อยลงและกำหนดโทษจำคุกให้สูงขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยน้อยลงเหลือหนึ่งในสามและกำหนดโทษจำคุกจำเลยสูงขึ้น จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยโดยที่โจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

สรุปสั้น หากต้องการให้ศาลเพิ่มโทษจำคุก ต้องอุทธรณ์ให้ไม่รอการลงโทษ และขอให้ลงโทษให้น้อยลงและกำหนดโทษจำคุกให้สูงขึ้น

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments