รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดีมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2562
การที่จำเลยที่ 1 ยิงปืนเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายเป็นการยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อันเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายอยู่ในตัว จึงเป็นการกระทำความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งศาลจะลงโทษอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อีกสถานหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8261/2561
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 กับร่วมกันมีอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด โดยไม่มีหมายเลขทะเบียนและมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 และข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนและมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2561
ป.อ. มาตรา 140 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธปืนต้องได้รับโทษหนักกว่าโทษตามที่กฎหมายบัญญัติในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง ก็เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ แม้อาวุธปืนที่ยึดได้จากรถคันเกิดเหตุจะถูกซุกซ่อนอยู่ใต้ที่นั่งด้านหน้าข้างคนขับ จำเลยที่ 1 ไม่ได้พกติดตัวหรือวางในลักษณะพร้อมหยิบฉวยได้ทันทีก็ตาม แต่อาวุธปืนมีกระสุนปืนบรรจุอยู่ในรังเพลิงพร้อมใช้งานได้ทันที นับเป็นอันตรายต่อเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติตามหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2561
คดีนี้แม้จะไม่มีประจักษ์พยานขณะจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็ตาม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งประกอบด้วยบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสอนพยานบุคคลแวดล้อมกรณี วัตถุพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องเชื่อมโยงเป็นลำดับ ทั้งมีรายละเอียดเอกสารจากหน่วยงานต่าง ๆ ลำดับเหตุการณ์ไว้ทุกขั้นตอนยากที่จะปรุงแต่งขึ้นได้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าขณะเกิดเหตุอยู่ที่อื่นไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุก็ดี ถูกทำร้ายจนต้องรับสารภาพก็ดี ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7180/2560
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นคนรักของจำเลยที่ 1 และไปคบหากับเพื่อนชายคนใหม่ จำเลยที่ 1 เข้าไปในหอพักเห็นโจทก์ร่วมที่ 1 นอนดูหนังอยู่กับโจทก์ร่วมที่ 2 จึงเกิดความโมโหและเข้าทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมทั้งสองทันที เป็นทำนองว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยเหตุบันดาลโทสะ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 จะไปกระทำความผิดและไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 พาอาวุธไปด้วย จำเลยที่ 2 เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 ถูกทำร้ายจึงเข้าไปช่วยและห้าม เป็นทำนองว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาร่วมกระทำความผิดนั้น จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังตามฟ้อง จำเลยทั้งสองเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ไม่ปรากฏว่ามีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้หรือไม่ 1 กระบอก มิได้ยืนยันว่าเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองว่า เป็นอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษตามมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1863/2560
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งให้การในชั้นสอบสวนเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และพบเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง มิได้รับฟังมาจากผู้อื่น และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลด้วยตนเอง ทั้งคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเหตุผลเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ด้วยความสมัครใจ จึงเป็นปัญหาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน หาใช่กรณีเป็นปัญหาในเรื่องพยานบอกเล่าไม่ แม้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับว่า ได้ร่วมกับ พ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จึงไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 แต่เพียงลำพังเท่านั้น แต่เป็นการให้การถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ได้ประสบมายิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 2 จึงรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ อีกทั้งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสาระสำคัญสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ในฐานะพยาน ยิ่งทำให้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีน้ำหนักให้รับฟังมากขึ้น และจำเลยที่ 2 ยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยทำกริยาท่าทางที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ไปดูบ้านของผู้ตายก่อนเกิดเหตุ ให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูป และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปโดยไม่สมัครใจแต่อย่างใด จึงรับฟังการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9087/2559
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 15 เดือน ฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 158/2549 ของศาลชั้นต้น จำเลยกระทำความผิดในคดีก่อนในขณะที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี และมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ทั้งศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหกเดือน และภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษในคดีดังกล่าว (จำเลยพ้นโทษวันที่ 1 กันยายน 2552) จำเลยกลับมากระทำผิดในคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีก และมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการเพิ่มโทษจำเลยมาแล้ว เมื่อความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 93 ได้ ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 ซึ่งเป็นบทเบากว่าได้ แม้โจทก์จะขอเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 93 โดยไม่ได้ขอตาม ป.อ. มาตรา 92 มาด้วย ก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14150/2558
พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 24 เป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มีหรือจำหน่ายซึ่งอาวุธปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะ อันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำผิดฐานมีอาวุธปืนทั่ว ๆ ไปซึ่งมิใช่เพื่อการค้า เมื่ออาวุธปืนที่จำเลยมีและจำหน่ายสำหรับการค้านี้เป็นปืนจำนวนเดียวกันและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธปืนอื่นอีก จึงลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7 อีกกระทงหนึ่งไม่ได้ ส่วนการที่จำเลยมีอาวุธปืนจำนวนดังกล่าวสำหรับการค้าไว้ในความครอบครองของจำเลยและจำเลยได้จำหน่ายอาวุธปืนจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อนั้น พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะ สั่ง นำเข้า มีหรือจำหน่าย ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่” และหากผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจะต้องได้รับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 73 เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า แม้จำเลยจะมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้า ก็ถือเป็นกรรมในบทมาตราเดียวกัน ไม่ต่างกัน เพราะการที่จำเลยจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าได้ จำเลยย่อมจะต้องมีอาวุธปืนนั้นไว้ในครอบครองอยู่ก่อนเมื่อจำเลยมีอาวุธปืนสำหรับการค้าและจำหน่ายอาวุธปืนดังกล่าวไปทั้งหมดแล้วก็ไม่มีอาวุธปืนสำหรับการค้าเหลืออยู่ในความครอบครองของจำเลยอีก ดังนั้น การที่จำเลยมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าจึงเป็นความผิดต่อเนื่องกรรมเดียวตั้งแต่เริ่มมีจนเลิกมีคือจำหน่ายอาวุธปืนไปแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าเพียงกรรมเดียว ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12802/2558
เมื่อผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 คำร้องดังกล่าวย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญาและไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีส่วนอาญายังไม่ถึงที่สุดเพราะโจทก์ยังคงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งซึ่งศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 46 จึงต้องรอฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาให้เป็นที่ยุติเสียก่อน แม้ผู้ร้องทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัย เพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัย และกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นผู้เสียหายคดีนี้จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10434/2558
แม้ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง ได้ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครอง เมื่อจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติว่าจำเลยมีกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสอง ซึ่งความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ตามฟ้องรวมถึงความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตด้วย และความผิดดังกล่าวเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6899/2557
เมื่ออาวุธปืนที่จำเลยมีและพยายามจำหน่ายสำหรับการค้าเป็นอาวุธปืนพกออโตเมติก (STAR) ขนาด .38 (9 มม.) ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานอนุญาต และจำเลยยังมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น ซองกระสุนปืน และเครื่องกระสุนปืนของกลางอื่นอีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่งด้วย จึงต้องลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6368/2557
การมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง ส่วนการมีกระสุนปืนที่สามารถใช้ร่วมกันได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดตามมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง การที่กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตรา ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิดสองฐานนี้ออกจากกัน แม้ว่าจำเลยจะมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองในเวลาเดียวกัน อาวุธปืนและกระสุนปืนใช้ร่วมกันได้ การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้องจึงไม่อาจแก้ไขให้เรียงกระทงลงโทษในส่วนนี้ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11092/2556
อาวุธปืนของกลางสามารถใช้ยิงได้กับกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) แสดงให้เห็นว่าอาวุธปืนของกลางถูกดัดแปลงแก้ไขจนสามารถใช้ยิงกับกระสุนปืนเล็กกลของกลางได้ เจตนาในการมีอาวุธปืนของกลางและกระสุนปืนเล็กกลของกลางของจำเลย จึงมีความประสงค์เดียวกันเพื่อที่จะใช้กระสุนปืนเล็กกลของกลางเข้ากับอาวุธปืนของกลาง ทั้งอาวุธปืนและกระสุนปืนมีไว้ในครอบครองด้วยกัน โดยกระสุนปืนนั้นเป็นกระสุนปืนที่ใช้ยิงได้กับอาวุธปืน ซึ่งถือว่าเป็นกรรมเดียว เช่นนี้ การกระทำของจำเลยในการมีอาวุธปืนของกลางและกระสุนปืนเล็กกลของกลางจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th