Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาฎีกาใหม่ สู้คดีฆ่าคนตายโดยเจตนา

รวมคำพิพากษาฎีกาใหม่ สู้คดีฆ่าคนตายโดยเจตนา

12098

รวมคำพิพากษาฎีกาใหม่ สู้คดีฆ่าคนตายโดยเจตนา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2562

การที่จำเลยที่ 1 ยิงปืนเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายเป็นการยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อันเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายอยู่ในตัว จึงเป็นการกระทำความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งศาลจะลงโทษอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อีกสถานหนึ่ง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8882/2561

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดย พ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท. และตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ. และ ข. ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน พฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยขับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงประทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8731/2561

คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปยังที่เกิดเหตุพร้อมกับอาวุธปืน เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นผู้เสียหายที่บริเวณหน้าบ้านที่เกิดเหตุเข้าใจว่าเป็นพวกของ บ. จำเลยที่ 2 จึงใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นที่พกติดตัวมายิงไปที่ผู้เสียหายนั่งอยู่เพราะสำคัญผิดคิดว่าผู้เสียหายเป็นพวกของ บ. แต่จำเลยที่ 2 ก็จะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวหาได้ไม่ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะกระทำต่อพวกของ บ. เช่นใด ก็ต้องรับผิดในผลของการกระทำที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายเช่นนั้นตาม ป.อ. มาตรา 61 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8261/2561

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 กับร่วมกันมีอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด โดยไม่มีหมายเลขทะเบียนและมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 และข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนและมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581/2561

การที่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหาแต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลคือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท แม้มีเหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลคือความตายของผู้ตายด้วย ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 และผลคือความตายของผู้ตายขาดตอนลง เพราะถ้าจำเลยที่ 3 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมช่วยเหลือผู้ตายได้ทันเนื่องจากห้องทำงานของจำเลยที่ 3 อยู่หน้าห้องขังเยาวชนและติดกับห้องขังหญิง ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3

การที่จำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งสี่อย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่สามารถช่วยได้ แสดงให้เห็นว่านอกจากจำเลยที่ 3 จะต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแล้วยังนำสืบต่อสู้ด้วยว่าไม่ได้กระทำโดยประมาท ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าหลงต่อสู้ ทำให้ไม่มีโอกาสนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำโดยประมาท จึงฟังไม่ขึ้น แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เจตนาฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาได้เพราะการกระทำโดยเจตนาและการกระทำโดยประมาทมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและไม่ถือเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2561

การกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนผู้กระทำความผิดต้องได้มีเวลาคิดไตร่ตรองและทบทวนแล้วจึงตกลงใจที่จะฆ่าผู้อื่น หาใช่กรณีที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนไม่ และการจะเป็นตัวการร่วมฐานความผิดดังกล่าวจะต้องมีลักษณะมีการวางแผนและคบคิดมาแต่ต้น โดยคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด แม้การท้าทายถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์คิดไตร่ตรองจะฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 แต่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ปฏิเสธคำท้าทายของจำเลยที่ 3 ทางโทรศัพท์แล้ว จำเลยทั้งสามย่อมไม่สามารถเริ่มลงมือกระทำแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ตามคำท้าทายได้ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามรู้ว่าหลังจากวางสายโทรศัพท์แล้วโจทก์ร่วมที่ 2 ไปไหนหรืออยู่ที่ใด และจำเลยทั้งสามออกตามหาโจทก์ร่วมที่ 2 ต่อไปหรือไม่ กรณีจึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสามมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 ในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน การที่จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนออกมายิงโจทก์ร่วมที่ 2 ทันที ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนจัดเตรียมของจำเลยทั้งสาม แต่เป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันทีที่ขับรถมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 โดยบังเอิญ ส่วนการตามไล่ยิงไปอย่างกระชั้นชิดจนถึงบ้านโจทก์ร่วมที่ 3 ก็ยังได้ยิงเข้าไปในบ้านอีก 1 นัด เป็นเพียงการกระทำต่อเนื่องหลังจากประสบโอกาสที่จะยิงโจทก์ร่วมที่ 2 อย่างทันทีทันใดเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2561

ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้” ปรากฏตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยทราบ และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวนแล้ว จำเลยให้การว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้ตามคำให้การดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะจัดหาหรือไม่จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2561

คดีส่วนอาญาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ตาย อันเป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) จึงยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ซึ่งเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ดังนั้น ที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ตามฟ้อง โดยกล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยมิใช่การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ จึงเป็นการฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้อง ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองมาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2561

ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี บ. มารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บ. สองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่ บ. จะได้รับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำของจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วร่วมกันใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองวิ่งหลบหนีไปทางบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน จำเลยที่ 1 ได้ส่งอาวุธมีดที่ใช้ก่อเหตุให้จำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 2 โยนอาวุธมีดทิ้งลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสียห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดของกลางไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นนำมารับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนั้นมาวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ย่อมเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2561

คดีนี้แม้จะไม่มีประจักษ์พยานขณะจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็ตาม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งประกอบด้วยบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสอนพยานบุคคลแวดล้อมกรณี วัตถุพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องเชื่อมโยงเป็นลำดับ ทั้งมีรายละเอียดเอกสารจากหน่วยงานต่าง ๆ ลำดับเหตุการณ์ไว้ทุกขั้นตอนยากที่จะปรุงแต่งขึ้นได้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าขณะเกิดเหตุอยู่ที่อื่นไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุก็ดี ถูกทำร้ายจนต้องรับสารภาพก็ดี ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments