Home คดีแพ่ง บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิยืนคำร้องต่อศาลขอให้ใช้นามสกุลของตนฝ่ายเดียวหรือไม่

บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิยืนคำร้องต่อศาลขอให้ใช้นามสกุลของตนฝ่ายเดียวหรือไม่

4711

บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิยืนคำร้องต่อศาลขอให้ใช้นามสกุลของตนฝ่ายเดียวหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2561

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลย ขอแบ่งสินสมรส และขอให้ถอนอำนาจปกครองเด็กหญิง ศ. บุตรผู้เยาว์ของจำเลยกับทั้งให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 12 มีนาคม 2555

โจทก์ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

จำเลยยื่นคำคัดค้าน

ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงร่วมกันว่า คู่ความสามารถตกลงกัน ในประเด็นอื่น ๆ ตามคำร้องและคำคัดค้านได้แล้ว ยังคงติดใจประเด็นเรื่องการเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์เท่านั้น โดยโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองให้แก่บุตรผู้เยาว์

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ใช้ชื่อสกุล ธ. ของโจทก์เป็นชื่อรองของเด็กหญิง ศ.

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ใส่ชื่อสกุล ธ. ของโจทก์ซึ่งเป็นบิดาของเด็กหญิง ศ. เป็นชื่อรองของเด็กหญิง ศ. ชอบหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาทำนองว่า จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ศ. บุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการสมควร และเหมาะสมที่จะเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์มาใช้ชื่อสกุลเดียวกับจำเลยซึ่งเป็นมารดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองด้วยและไม่กระทบต่อสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะมิได้ตกลงกันในเรื่องนี้นั้น เห็นว่า แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ และจำเลย ฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2555 ในข้อ 3 กำหนดให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ศ. บุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 บัญญัติว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ (1) กำหนดที่อยู่ของบุตร (2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน (3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป (4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนางกาญจนา พนักงานปกครองชำนาญงานสำนักงานเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน้าที่รับจดทะเบียน เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนสกุลตอบทนายโจทก์ขออนุญาตศาลถามว่า ในกรณีการขอเปลี่ยนชื่อสกุลของผู้เยาว์นั้น หากบิดาไปคัดค้านขณะยื่นคำร้อง หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่งเรียกบิดามาเพื่อสอบถามแล้วได้ความว่า บิดาคัดค้าน ทางเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ดำเนินการเปลี่ยนชื่อสกุลผู้เยาว์ให้ ดังนี้จึงไม่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำได้โดยลำพังคนเดียวเพราะไม่ใช่กรณีที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 ทั้งไม่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความว่า ให้จำเลยมีอำนาจเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์ของโจทก์มาใช้ชื่อสกุลของจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และก่อนที่โจทก์และจำเลยจะหย่าขาดจากกัน บุตรผู้เยาว์ก็ใช้ชื่อสกุลของโจทก์อยู่แล้ว การที่จำเลยมาเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์มาใช้ชื่อสกุลของจำเลย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนางกาญจนาที่ว่า หากโจทก์คัดค้านทางเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ดำเนินการเปลี่ยนชื่อสกุลบุตรผู้เยาว์ให้ ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์มาใช้ชื่อสกุลของจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ เมื่อคำนึงถึงว่า โจทก์ จำเลยซึ่งเป็นบิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง เพื่อความผาสุกและความสัมพันธ์อันดีของบิดาและบุตร ที่ศาลล่างทั้งสองให้ใส่ชื่อสกุล ธ. ของโจทก์เป็นชื่อรองของเด็กหญิง ศ. จึงชอบแล้ว

มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ที่ศาลล่างทั้งสองให้ใส่ชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองของบุตรผู้เยาว์เป็นเรื่องนอกฟ้อง นอกประเด็น และเกินคำขอหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์กลับมาใช้ชื่อสกุลของโจทก์ดังเดิม จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ไม่เปลี่ยนชื่อสกุลกลับไปตามที่โจทก์ขอ ทำนองว่าไม่มีประเด็น และเกินคำขอของโจทก์ให้ใส่ชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองนั้น เห็นว่า คดีนี้มีประเด็นโต้เถียงกันว่า ที่จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของโจทก์มาเป็นชื่อสกุลของจำเลย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ชอบหรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และโดยที่โจทก์ประสงค์ให้เพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองของบุตรผู้เยาว์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรณีนี้มิใช่เรื่องที่บุตรผู้เยาว์ของโจทก์และจำเลย ที่มีชื่อตัวหรือชื่อรองอยู่แล้วประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง ซึ่งต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่เสียก่อน ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 มาตรา 6 วรรคสอง และมาตรา 16 ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจเพิ่มชื่อสกุลของโจทก์ เป็นชื่อรองให้แก่บุตรผู้เยาว์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้เพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองแทนที่จะให้บุตรผู้เยาว์ใช้ชื่อสกุลของโจทก์ดังเดิม นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้วและยังอยู่ในประเด็นที่โต้เถียงกันว่า บุตรผู้เยาว์จะใช้ชื่อสกุลของผู้ใด กรณีจึงไม่ใช่เรื่องนอกฟ้อง นอกประเด็น และเกินคำขอ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน โดยให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิ่มชื่อสกุล ธ. ของโจทก์ เป็นชื่อรองให้แก่เด็กหญิง ศ. ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา หากจำเลยไม่ปฏิบัติภายในกำหนดเวลาให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการแทน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์กลับมาใช้ชื่อสกุลของโจทก์ดังเดิม จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ไม่เปลี่ยนชื่อสกุลกลับไปตามที่โจทก์ขอ ทำนองว่าไม่มีประเด็น และเกินคำขอของโจทก์ให้ใส่ชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองนั้น เห็นว่า คดีมีประเด็นโต้เถียงกันว่า ที่จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของโจทก์มาเป็นชื่อสกุลของจำเลย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ชอบหรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และโดยที่โจทก์ประสงค์ให้เพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองของบุตรผู้เยาว์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรณีนี้มิใช่เรื่องที่บุตรผู้เยาว์ของโจทก์และจำเลย ที่มีชื่อตัวหรือชื่อรองอยู่แล้วประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง ซึ่งต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่เสียก่อน ตาม พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ.2505 มาตรา 6 วรรคสอง และมาตรา 16 ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจเพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองให้แก่บุตรผู้เยาว์ได้

สรุปสั้น สามารถทำได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments