Home คดีอาญา สมัครใจหย่าโดยความยินยอม สามารถลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจได้หรือไม่

สมัครใจหย่าโดยความยินยอม สามารถลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจได้หรือไม่

8173

สมัครใจหย่าโดยความยินยอม สามารถลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2560

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดกับจำเลย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา ให้จำเลยคืนรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน ชต 6512 กรุงเทพมหานคร แหวนเพชร และอาวุธปืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยแบ่งสินสมรส จำนวน 125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน และให้จำเลยใช้ค่ารถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน ชต 6512 กรุงเทพมหานคร ราคา 150,000 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแหวนเพชร 40,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันที่ฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยจ่ายเงินค่าอาวุธปืน 43,262 บาท และค่ารถยนต์จิ๊ป 125,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยของค่ารถยนต์ หมายเลขทะเบียน ชต 6512 ค่าแหวนเพชร ค่าอาวุธปืน และค่ารถยนต์จิ๊ป นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 สิงหาคม 2556) จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 5,135 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2551 ตามทะเบียนสมรส อาวุธปืนสั้น ขนาด .45 เครื่องหมายทะเบียน กท 54241039 เจ้าพนักงานออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแก่โจทก์ตามสำเนาใบอนุญาต รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน ชต 6512 กรุงเทพมหานคร มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตามสำเนารายการจดทะเบียน โจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลง ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า บันทึกข้อตกลงเป็นบันทึกข้อตกลงการหย่าโดยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 หรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ประสงค์อยู่กินกันต่อไปจึงได้ตกลงดังนี้ 2. ในเรื่องการหย่านั้น ฝ่ายหญิงจะดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไปโดยมีโจทก์ จำเลย พนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงานตำรวจอีกนายหนึ่งลงลายมือชื่อไว้ บันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยโดยตรง มีข้อความชัดเจนว่า ทั้งสองไม่ประสงค์อยู่กินกันต่อไป คือต้องการแยกทางกันหรือหย่ากันนั่นเอง แม้มีข้อความในข้อ 2 ว่า ฝ่ายหญิง คือโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไปก็เป็นความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายว่าจะต้องไปดำเนินการฟ้องหย่าต่อกันเท่านั้น ข้อความดังกล่าวมิได้ลบล้างเจตนาที่แท้จริงของทั้งโจทก์และจำเลยที่ไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไปแต่อย่างใด ดังนั้น บันทึกดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่โจทก์จำเลยประสงค์จะหย่ากัน ตาม มาตรา 1514 ส่วนที่จำเลยอ้างว่าบันทึกดังกล่าวมีพยานลงชื่อไม่ครบสองคนนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจที่ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้เขียนบันทึก เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ได้รับรู้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยตามข้อความในบันทึกดังกล่าว ถือได้ว่าคนทั้งสองได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะพยานผู้ทำบันทึกแล้วจึงถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี มีข้อความว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไป จึงได้ตกลงดังนี้ ในเรื่องการหย่านั้น ฝ่ายหญิงจะดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไป โดยมีโจทก์ จำเลย พนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงานตำรวจอีกนายหนึ่งลงลายมือชื่อไว้ บันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยโดยตรง มีข้อความชัดเจนว่า ทั้งสองไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไป คือต้องการแยกทางกันหรือหย่ากันนั่นเอง แม้มีข้อความในข้อ 2 ว่า ฝ่ายหญิง คือโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไปก็เป็นความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายว่าจะต้องไปดำเนินการฟ้องหย่าต่อกันเท่านั้น ข้อความดังกล่าวมิได้ลบล้างเจตนาที่แท้จริงของทั้งโจทก์และจำเลยที่ไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไปแต่อย่างใด บันทึกดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่โจทก์จำเลยประสงค์จะหย่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1514 พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจที่ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้เขียนบันทึก เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ได้รับรู้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยตามข้อความในบันทึกดังกล่าว ถือได้ว่าคนทั้งสองได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะพยานผู้ทำบันทึกแล้ว จึงถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย

สรุปสั้น สามารถทำได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments