รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดีอาญายกฟ้องเพราะโจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2562
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิดเป็นคดีนี้ภายในเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษ ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 โดยโจทก์แนบรายการประวัติอาชญากรของจำเลยมากับคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดี เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมถือได้ว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดจริงและหมายความรวมถึงรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษด้วย การสอบถามคำให้การจำเลยจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยให้ลงโทษจำเลยและเพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบ ส่วนที่ศาลชั้นต้นคำนวณจำนวนวันและเดือนเพิ่มโทษจำเลยน้อยกว่าความเป็นจริงและไม่ถูกต้องเป็นเรื่องความผิดพลาดในการคำนวณโทษ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่แก้ไขโทษที่ศาลชั้นต้นคำนวณโทษที่เพิ่มผิดพลาด กลับพิพากษาไม่เพิ่มโทษจำเลยโดยยกคำร้องขอเพิ่มโทษ เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สอบถามคำให้การจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้ไม่ได้ขอให้ศาลฎีกาเพิ่มโทษจำเลยโดยตรงก็ตาม แต่เห็นได้ว่าฎีกาโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่นเอง จึงแปลได้ว่าโจทก์ฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษแก่จำเลยแล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขเพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 232/2562
จำเลยอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานไม่ได้ยึดอาวุธปืนและรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักอาวุธปืนโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิด และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ และจำเลยฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ว่าจะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี (1)….(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติแต่เพียงว่าคำฟ้องต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่ว่าเจ้าพนักงานยึดของกลางได้หรือไม่ อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวในฟ้อง เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญแห่งการกระทำผิดของจำเลย ทั้งคดีนี้เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพโดยมิได้หลงต่อสู้แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 และถูกคุมขังมาโดยตลอดจึงต้องหักวันต้องขังให้แก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 22 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น เห็นว่า ฎีกาจำเลยดังกล่าวเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ซึ่งมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าพิพากษาคดีไม่ถูกต้องแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 และมาตรา 216 หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นบังคับคดีไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาก็ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นโดยขอให้แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้วจำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับคำขอให้นับโทษต่อไม่ชัดแจ้ง และจำเลยต้องโทษหลายคดี หากบังคับนับโทษต่อจากคดีที่จำเลยต้องโทษเป็นคดีสุดท้าย ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย อาจทำให้การบังคับโทษจำคุกไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 91 และมาตรา 98 เมื่อกรณียังมีข้อสงสัยต้องยกคำขอให้นับโทษต่อนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5084/2558 และหมายเลขแดงที่ อ.5230/2558 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อดังกล่าวแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าต้องนับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีใด อย่างไร เพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดมาในคำฟ้องหรือเป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องแถลงวิธีการนับโทษต่อให้ศาลทราบดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในข้อที่ว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5084/2558 และหมายเลขแดงที่ อ.5230/2558 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อตามคำให้การฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2560 โดยไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นับโทษของจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5084/2558 และหมายเลขแดงที่ อ.5230/2558 ของศาลชั้นต้น มานั้น จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2561
การพิจารณาว่าคำฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากคำฟ้องโจทก์เท่านั้น ส่วนเอกสารท้ายฟ้องแม้เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็เป็นเพียงส่วนแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเท่านั้น ไม่อาจนำเอกสารท้ายฟ้องและคำเบิกความของโจทก์มาพิจารณาประกอบกับคำฟ้องด้วย
การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 นั้น ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยเจ้าพนักงานผู้กระทำมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยทั้งยี่สิบสี่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสี่ย่อมไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์มิได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยทั้งยี่สิบสี่กระทำการตามคำฟ้องโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ อย่างไร คำฟ้องโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6794/2561
ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อันเป็นการกระทำโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้ามก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 326, 393 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เห็นได้ว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้ามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เดิม แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ใช้กับกรณีกระทำการโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเทอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนแต่ไม่ใช้กับกรณีนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมีบทบัญญัติตาม ป.อ. ระบุไว้ว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5765/2561
ตาม ป.อ. อาญา มาตรา 309 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น …” ดังนี้ การที่ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้นตามที่ถูกข่มขืนใจจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ด้วย ซึ่งโจทก์ต้องบรรยายให้ปรากฏในคำฟ้อง เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยบังอาจถืออาวุธปืนพร้อมกับชี้นิ้วและพูดจาข่มขู่เพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กระทำการก่อสร้างที่พักคนงาน อันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย โดยโจทก์มิได้บรรยายว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้นหรือไม่ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ขอให้ลงโทษ คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2561
จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งในคำฟ้องฎีกาว่า ไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ให้รับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคสอง จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคแรก (เดิม) จำคุก 1 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 จำคุก 2 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 (เดิม) จำคุก 1 เดือน เป็นการแก้ไขทั้งบทและโทษอันเป็นการแก้ไขมาก แต่มิได้เพิ่มเติมโทษจำเลย ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อนี้ให้จำเลยทราบ แต่เมื่อฎีกาในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ
จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า ผู้เสียหายและจำเลยต่างมีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน จำเลยไม่มีเจตนามุ่งเอาทรัพย์ของผู้เสียหายมาตั้งแต่แรก จำเลยไม่ผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เห็นว่าคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย จำเลยแย่งการครอบครองสร้อยคอทองคำไปจากผู้เสียหายโดยจำเลยมีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอันเป็นลักษณะการฉกฉวยเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปซึ่งหน้าโดยทุจริต จำเลยย่อมมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยทำร้าย บ. ผู้เสียหาย โดยใช้มือบีบคอ 1 ครั้ง แล้วใช้ฝ่ามือตบบริเวณใบหน้าและริมฝีปาก 2 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หลังจากกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยลักสร้อยคอทองคำลายเกล็ดมังกรด้านหน้าลายปล้องอ้อย หนัก 1 บาท 1 เส้น พร้อมจี้ทองคำรูปใบไม้ด้านในมีรูปพระนั่งสมาธิ 1 อัน ราคา 27,500 บาท ของผู้เสียหายไปโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ใช้กำลังกระชากสร้อยคอพร้อมจี้ดังกล่าวไปจากคอผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เหตุเกิดที่ตำบลนาเรือง อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี เห็นได้ชัดว่าคำฟ้องได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนเหตุการณ์และรายละเอียดของการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เมื่อผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลถลอกและบาดแผลฟกช้ำบวม ซึ่งแพทย์เห็นว่าใช้เวลารักษาประมาณ 5 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้ายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7243/2560
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 และข้อ 1.2 แยกต่างหากจากกัน โดยฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนีไปยังไม่ได้ตัวมาฟ้องสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมิได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งกรณีไม่อาจนำเอาการบรรยายฟ้องข้อ 1.2 มาประกอบฟ้องข้อ 1.1 ได้ เพราะเป็นการฟ้องคนละฐานความผิดกัน ฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาในคำฟ้องด้วยก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์ข้อดังกล่าวได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวโดยการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ให้คำนิยาม ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ว่าหมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย จึงพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจำหน่ายให้แก่สายลับในที่เกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 2 ขับรถกระบะของกลางพาจำเลยที่ 1 กับ จ. ไปดูเงินที่จะใช้ล่อซื้อและมารับจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุ จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1)
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-1427773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th