Home ทั้งหมด เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ เปิดเพลงในร้านอาหารผิดลิขสิทธิ์หรือไม่

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ เปิดเพลงในร้านอาหารผิดลิขสิทธิ์หรือไม่

6551

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ เปิดเพลงในร้านอาหารผิดลิขสิทธิ์หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2226/2562

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 31, 70, 75, 76 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบไมค์พร้อมสายจำนวน 2 อัน สมุดรายชื่อเพลง/ชื่อศิลปินพร้อมรหัสจำนวน 4 เล่ม และตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญจำนวน 1 ตู้ ของกลาง และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 15/2558 ถึง 18/2558 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง (ศาลจังหวัดเดชอุดม) และโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 19/2558 ถึง 24/2558 และ 26/2558 ถึง 28/2558 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง (ศาลจังหวัดเดชอุดม)

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีคำสั่งให้รับเฉพาะอุทธรณ์ในข้อ 2.4 ของจำเลยที่ 1

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ในข้อ 2.4 ของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) นั้น เป็นคำพิพากษาที่ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญ ได้ร่วมกันนำตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวที่มีงานโสตทัศนวัสดุที่บันทึกภาพและเสียงดนตรีกรรม ทั้งร้องและทำนองเพลง ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนที่ร้านลลิตาคาราโอเกะ โดยเปิดเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายดังกล่าวทางตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญ ทำให้ปรากฏเสียงทำนองเพลงออกทางเครื่องขยายเสียงและปรากฏภาพคำร้องทางจอโทรทัศน์ แล้วให้ลูกค้าของจำเลยทั้งสองขับร้องเพลงเผยแพร่แก่ลูกค้าภายในร้านอาหารของจำเลยที่ 1 ทั้งคำร้องและทำนอง แล้วแบ่งปันผลประโยชน์กัน อันเป็นการร่วมกันกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าจากการเผยแพร่ต่อสาธารณชนดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำการเผยแพร่งานโสตทัศนวัสดุที่บันทึกภาพและเสียงดนตรีกรรมของผู้เสียหายต่อสาธารณชนเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ในคำขอท้ายฟ้อง แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 69 วรรคสอง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหานี้ได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันมิใช่ความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งมีระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) ให้จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนี้ จึงเป็นเพียงการปรับบทมาตราผิดเท่านั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า แต่ไม่อาจกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ตามระวางโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 วรรคสองได้ เพราะจะมีผลเป็นการเพิ่มโทษแก่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

สรุป

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ในข้อ 2.4 ของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) นั้น เป็นคำพิพากษาที่ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญ ได้ร่วมกันนำตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวที่มีงานโสตทัศนวัสดุที่บันทึกภาพและเสียงดนตรีกรรม ทั้งร้องและทำนองเพลง ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนที่ร้านลลิตาคาราโอเกะ โดยเปิดเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายดังกล่าวผ่านทางตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญ ทำให้ปรากฏเสียงทำนองเพลงออกทางเครื่องขยายเสียงและปรากฏภาพคำร้องทางจอโทรทัศน์ แล้วให้ลูกค้าของจำเลยทั้งสองขับร้องเพลงเผยแพร่แก่ลูกค้าภายในร้านอาหารของจำเลยที่ 1 ทั้งคำร้องและทำนอง แล้วแบ่งปันผลประโยชน์กัน อันเป็นการร่วมกันกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าจากการเผยแพร่ต่อสาธารณชนดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำการเผยแพร่งานโสตทัศนวัสดุที่บันทึกภาพและเสียงดนตรีกรรมของผู้เสียหายต่อสาธารณชนเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) และ ป.อ. มาตรา 83 แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ในคำขอท้ายฟ้อง แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 69 วรรคสอง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหานี้ได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันมิใช่ความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งมีระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) ให้จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนี้ จึงเป็นเพียงการปรับบทมาตราผิดเท่านั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า แต่ไม่อาจกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ตามระวางโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 วรรคสองได้ เพราะจะมีผลเป็นการเพิ่มโทษแก่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) และ ป.อ. มาตรา 83 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2560

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 15, 27, 28, 30, 31, 69, 70, 75 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และให้ริบหน่วยความจำ (ซีพียู) ของกลาง กับให้สั่งจ่ายค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งของค่าปรับให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา บริษัทจีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 โจทก์ร่วมรับโอนลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม งานสิ่งบันทึกเสียง และงานโสตทัศนวัสดุเพลง “กรุณาฟังให้จบ” ซึ่งขับร้องโดยแช่ม จากบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ตามสำเนาสัญญาโอนสิทธิในลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุ ต่อมาโจทก์ร่วมได้มอบอำนาจให้บริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ และบริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด มอบอำนาจช่วงให้นางสาวณิชารีย์ เป็นผู้ร้องทุกข์ ฟ้องและดำเนินคดีแทน ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นางสาวณิชารีย์ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ร่วมกับร้อยตำรวจตรีอาภร และพวกเดินทางไปที่ร้านอาหารชื่อ “น้องจ๋า” ของจำเลยและยึดซีพียู (คอมพิวเตอร์) 1 เครื่อง ไปจากร้านอาหารของจำเลย และเจ้าพนักงานตำรวจได้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์โดยการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรม งานสิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางสาวณิชารีย์และร้อยตำรวจตรีอาภรเป็นพยานเบิกความเป็นขั้นเป็นตอนถึงเหตุการณ์ตั้งแต่นางสาวณิชารีย์สืบทราบว่าที่ร้านอาหารของจำเลยมีการเปิดเพลงอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม จึงได้ให้พนักงานคนหนึ่งในบริษัทโจทก์ร่วมมาใช้บริการที่ร้านอาหารดังกล่าว ซึ่งร้อยตำรวจตรีอาภรได้เบิกความยืนยันว่า ขณะพยานอยู่ที่บริเวณหน้าร้านอาหารที่เกิดเหตุก็ได้ยินเสียงเพลงซึ่งนางสาวณิชารีย์แจ้งพยานว่าเป็นเพลงของโจทก์ร่วม พยานจึงเข้าไปตรวจค้นภายในร้านและได้ถ่ายรูปร้านอาหารดังกล่าวไว้ดังที่ปรากฏในภาพถ่ายประกอบคดี ซึ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนี้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การตรวจค้นร้านอาหารที่เกิดเหตุเป็นการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมรายนี้รู้จักหรือเคยมีสาเหตุโกรธเคืองอันใดกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ควรระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย เชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จึงมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง นอกจากนี้ เมื่อตรวจดูภาพถ่ายก็แสดงให้เห็นถึงสภาพร้านอาหารที่เกิดเหตุในคืนเกิดเหตุว่ามีผู้คนอยู่ในร้านซึ่งเป็นลูกค้าจำเลย ภาพถ่ายดังกล่าวจึงทำให้คำเบิกความของนางสาวณิชารีย์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักยิ่งขึ้น ทั้งนายเจริญชัยซึ่งเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียในคดีนี้ก็เบิกความยืนยันว่า ตรวจพบเพลงตามฟ้องอันเป็นลิขสิทธิ์ในซีพียู (คอมพิวเตอร์) ของกลาง ประกอบกับปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยเองที่นำสืบรับเข้ามาว่า จำเลยเคยทำสัญญาขอใช้สิทธิทำซ้ำและเผยแพร่งานดนตรีกรรมต่อสาธารณชนกับนายมงคล ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยได้อ้างส่งสำเนาบัตรตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์เพลง ข้อนำสืบของจำเลยในส่วนนี้ จึงมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง จากพยานหลักฐานเท่าที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ในคืนเกิดเหตุที่ร้านอาหารของจำเลยมีการเปิดเพลง “กรุณาฟังให้จบ” ซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏจากข้อนำสืบของจำเลยว่า งานดนตรีกรรมดังกล่าวจำเลยได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ทำซ้ำจากเจ้าของลิขสิทธิ์โดยชอบแล้วก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ดังนั้น แม้จะปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมว่ามีการตรวจพบเพลงชื่อ “กรุณาฟังให้จบ” ทั้งเนื้อร้องและทำนองในซีพียู (คอมพิวเตอร์) ของกลางก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าโดยการทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรมตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1)

ส่วนความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมนั้น เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นร้านอาหารของจำเลย จำเลยจะมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุและมีพนักงานในร้านของจำเลยดูแลร้านอาหารที่เกิดเหตุก็ตาม แต่จำเลยในฐานะเจ้าของร้านค้าก็มีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลและควบคุมการดำเนินกิจการของร้านให้เป็นไปโดยเรียบร้อยโดยไม่ผิดกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าพนักงานในร้านของจำเลยให้บริการลูกค้าภายในร้านโดยการเปิดเพลง “กรุณาฟังให้จบ” ซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งที่สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิได้ครบกำหนดแล้ว แต่การกระทำดังกล่าวล้วนเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารโดยแท้ กรณีจึงเชื่อได้ว่าจำเลยรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำดังกล่าวของพนักงานและเป็นการกระทำภายใต้การสั่งการของจำเลย จำเลยจึงเป็นตัวการในการกระทำความผิด ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) แต่อย่างไรก็ตาม ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ร่วมโดยการทำซ้ำและดัดแปลงเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์คาราโอเกะลงบรรจุไว้ในหน่วยความจำ (ซีพียู) ของชุดเครื่องคอมพิวเตอร์และได้เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ให้บรรเลงเพลงต่าง ๆ ของผู้เสียหายที่บันทึกและบรรจุไว้ในหน่วยความจำดังกล่าวเผยแพร่ต่อสาธารณชนที่ใช้บริการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในร้าน น้องจ๋าคาราโอเกะ ของจำเลย อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งข้อความในคำฟ้องตอนแรก โจทก์บรรยายฟ้องถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการกระทำโดยตรงต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยการทำซ้ำหรือดัดแปลง อันเป็นการกระทำตามมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) ซึ่งได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าการกระทำในส่วนนี้ของจำเลยไม่เป็นความผิด ส่วนข้อความต่อมาในตอนหลังเป็นการบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้เปิดเพลงของโจทก์ร่วมที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ให้สาธารณชนทั่วไปที่ใช้บริการในร้านอาหารของจำเลยได้รับฟังและขับร้องเพลง อันเป็นความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการกระทำโดยตรงต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (2) ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์และไม่ริบของกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

แม้ขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นร้านอาหารของจำเลย จำเลยจะมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุและมีพนักงานในร้านของจำเลยดูแลร้านอาหารที่เกิดเหตุก็ตาม แต่จำเลยในฐานะเจ้าของร้านค้าก็มีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลและควบคุมการดำเนินกิจการของร้านให้เป็นไปโดยเรียบร้อยโดยไม่ผิดกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าพนักงานในร้านของจำเลยให้บริการลูกค้าภายในร้านโดยการเปิดเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งที่สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิได้ครบกำหนดแล้ว แต่การกระทำดังกล่าวล้วนเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารโดยแท้ กรณีจึงเชื่อได้ว่าจำเลย รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำดังกล่าวของพนักงานและเป็นการกระทำภายใต้การสั่งการของจำเลย จำเลยจึงเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2)

ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเปิดเพลงของโจทก์ร่วมที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ให้สาธารณชนทั่วไปที่ใช้บริการในร้านอาหารของจำเลยได้รับฟังและขับร้องเพลง อันเป็นความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการกระทำโดยตรงต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) ที่กล่าวมาข้างต้น คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments