หลักเกณฑ์ใดที่ศาลฎีกาใช้พิจารณาอายุความ ในคดีความผิดเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2475/2562
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 31, 40 (1) (2), 47, 47 ทวิ, 65, 67, 70 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับจำเลยเป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่ฝ่าฝืนคำสั่งทั้งสองคำสั่ง คำสั่งละ 1,149 วัน รวมทั้งสิ้น 2,298 วัน ตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 31, 40 (1) (2), 65 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, 67 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, 70 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน และปรับ 30,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรม จำคุก 6 เดือน และปรับ 60,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารเพื่อพาณิชยกรรม จำคุก 6 เดือน และปรับ 60,000 บาท และปรับจำเลยเป็นรายวัน วันละ 800 บาท สำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 2 กันยายน 2557 รวม 1,136 วัน เป็นเงิน 906,800 บาท และฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารเพื่อพาณิชยกรรมนับตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 2 กันยายน 2557 รวม 1,136 วัน เป็นเงิน 906,800 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน ปรับ 15,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรม คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 30,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารเพื่อพาณิชยกรรม คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 30,000 บาท และโทษปรับรายวันฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรม คงปรับ 454,400 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารเพื่อพาณิชยกรรม คงปรับ 454,000 บาท รวมจำคุก 7 เดือน 15 วัน และปรับ 983,800 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรม และฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารเพื่อพาณิชยกรรม จำเลยให้การรับสารภาพ คดีไม่มีการสืบพยาน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 ประกอบมาตรา 70 เป็นความผิดสำเร็จในวันที่ก่อสร้างเสร็จ คือวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 ดังนั้น อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2554 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเกินกว่า 5 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 31, 65 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรม และฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารเพื่อพาณิชยกรรมตามมาตรา 40 (1) (2), 67 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 12 เดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวจึงมีอายุความฟ้องร้อง 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) โดยความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเกิดขึ้นนับแต่วันทำการก่อสร้างอาคารต่อเนื่องกันไปจนถึงวันก่อสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องต้องนับถัดจากวันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จลง ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องย่อมนับถัดจากวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จ และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารเพื่อพาณิชยกรรมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยได้ทราบคำสั่งห้ามใช้อาคารแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยหยุดใช้อาคาร คดีนี้โจทก์บรรยายในฟ้องข้อ 1 ว่า เมื่อระหว่างต้นเดือนกรกฎาคม 2552 เวลากลางวันถึงวันที่ 2 กันยายน 2557 เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน จำเลยนี้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันเช่นนี้ถือว่าโจทก์ได้บรรยายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดการกระทำความผิดไว้แล้วคือต้นเดือนกรกฎาคม 2552 เวลากลางวันถึงวันที่ 2 กันยายน 2557 เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน ส่วนที่โจทก์บรรยายในข้อ 1.1 ย่อหน้าที่สองว่า ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 เวลากลางวัน และกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยนี้ได้บังอาจก่อสร้างอาคารประเภทคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 5 ชั้น ตามที่ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้าง ผิดไปจากแบบแปลน แผนผังบริเวณ และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และบรรยายในข้อ 1.2 ว่าเมื่อระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2552 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 เวลากลางวัน และกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้บังอาจฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคาร หรือดัดแปลงอาคารที่ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนหรือแผนผังที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานท้องถิ่นตามฟ้องข้อ 1.1 และฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งมีคำสั่งห้ามใช้ หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคาร หรือบริเวณอาคารทั้งหมดของจำเลยที่กำลังก่อสร้าง เช่นนี้การที่โจทก์กล่าวถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 จึงเป็นเพียงรายละเอียดที่เป็นส่วนหนึ่งของวันกระทำความผิดมิได้มีความหมายว่า การกระทำความผิดเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น ทั้งในฟ้องไม่ปรากฏข้อความว่า จำเลยก่อสร้างอาคารเสร็จในวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 ดังที่จำเลยฎีกา จำเลยให้การรับสารภาพและคดีไม่อยู่ในเงื่อนไขที่โจทก์จะต้องสืบพยาน จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างต้นเดือนกรกฎาคม 2552 ถึงวันที่ 2 กันยายน 2557 ต่อเนื่องกันมา โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ยังไม่พ้นกำหนดห้าปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้ปรับจำเลยรายวันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่มีวันเวลาที่จำเลยฝ่าฝืนมาตรา 67 และ 70 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 คำฟ้องระบุเพียงว่า ได้ตรวจพบความผิดเมื่อใด และแจ้งความร้องทุกข์เมื่อใด ไม่มีวันที่จำเลยหยุดฝ่าฝืน จึงชี้ให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 67 วรรคสอง และ 70 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับเป็นรายวันจึงเกินกว่าที่กล่าวในฟ้อง เห็นว่า เหตุดังกล่าวจำเลยไม่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพิ่งมายกขึ้นว่าในศาลฎีกา แต่ปัญหาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเกินคำขอหรือเกินกว่าที่โจทก์กล่าวในฟ้องหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็มีอำนาจยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในตอนท้ายว่า จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารที่ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตกับฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารหรือบริเวณอาคารที่ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่วันตรวจพบคือวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 2 กันยายน 2557 ซึ่งเป็นวันร้องทุกข์รวมคำสั่งละ 1,149 วัน ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 2 กันยายน 2557 จำเลยยังกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานอยู่ โจทก์จึงมีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลปรับจำเลยเป็นรายวันรวมคำสั่งละ 1,149 วัน ถือว่าโจทก์ได้กล่าวในฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบมาตรา 70 แล้ว ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิพากษาปรับจำเลยเป็นรายวัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
สรุป
ความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเกิดขึ้นนับแต่วันทำการก่อสร้างอาคารต่อเนื่องกันไปจนถึงวันก่อสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องต้องนับถัดจากวันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จลง
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างเพื่อพาณิชยกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องนับถัดจากวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จ
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารเพื่อพาณิชยกรรมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยได้ทราบคำสั่งห้ามใช้อาคารแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยหยุดใช้อาคาร
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th