Home คดีอาญา ศาลชั้นต้นลงโทษปรับฐานพกพาอาวุธปืน จำเลยละ 1,000บาท ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่

ศาลชั้นต้นลงโทษปรับฐานพกพาอาวุธปืน จำเลยละ 1,000บาท ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่

3030

ศาลชั้นต้นลงโทษปรับฐานพกพาอาวุธปืน จำเลยละ 1,000บาท ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 325/2562

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371 กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 38/2560 ของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุกคนละ 10 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 1,000 บาท รวมจำคุกคนละ 10 ปี และปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี และปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 38/2560 ของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 จำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 1 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 1 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายและผู้เสียหายแถลงไม่ติดใจเอาความ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนดคนละ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ชาวบ้านในหมู่บ้านศิลาทองร่วมกันเดินขบวนแห่เพื่อไปทำพิธีสรงน้ำบูชาพ่อปู่ตา โดยนายประเสริฐ ผู้เสียหาย ร่วมอยู่ในขบวนแห่ด้วย ต่อมาผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 ใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงบริเวณหน้าอกใต้ราวนม 1 ครั้ง แผลทะลุเข้าถึงปอด ตับและลำไส้เล็ก ได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 3 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 12 ปี 4 เดือน 15 วัน ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและเสพเมทแอมเฟตามีน คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 38/2560 ของศาลชั้นต้น สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา กับทั้งไม่ใช่กรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาได้ การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาและรับฎีกาในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า ขณะที่ผู้เสียหาย นายจักรจิตร และนางสายใจ กับชาวบ้านร่วมขบวนแห่ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ พบจำเลยทั้งสี่กับพวกอีก 2 คน ดักรออยู่บริเวณดังกล่าว จำเลยที่ 2 วิ่งเข้ามาต่อยผู้เสียหาย โดยในมือจำเลยที่ 2 ถืออาวุธมีดดาบ ความยาวรวมด้ามประมาณ 1 ช่วงแขน แกว่งมิให้บุคคลอื่นเข้ามาช่วยผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1 วิ่งเข้าใช้เหล็กขูดชาฟท์ ความยาวประมาณ 10 นิ้ว แทงบริเวณใต้ราวนมด้านขวา จากนั้นจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้ามาชกต่อยผู้เสียหาย แล้วจำเลยทั้งสี่กับพวกขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป นายจักรจิตรเป็นพยานโจทก์เบิกความว่า พยานเห็นจำเลยที่ 2 เข้ามาต่อยผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยที่ 1 วิ่งกลับไปที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 นำเหล็กขูดชาฟท์ที่วางอยู่บนตะแกรงหน้ารถมาแทงผู้เสียหาย และนางสายใจเป็นพยานโจทก์เบิกความว่า กลุ่มของจำเลยทั้งสี่มิได้ร่วมเดินขบวนแห่มาด้วย แต่วิ่งมาจากสี่มุมแยก หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 พยายามใช้มีดฟันนายจักรจิตรและยังใช้มีดแกว่งมิให้คนอื่นเข้าไปช่วยผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เข้าไปต่อยผู้เสียหาย แต่พยานไม่เห็นขณะที่ผู้เสียหายถูกแทง เห็นว่า เหตุเกิดในเวลากลางวัน พยานโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสี่เป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน โดยเฉพาะนายจักรจิตรรู้จักจำเลยทั้งสี่เป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าพยานโจทก์เห็นและจดจำจำเลยทั้งสี่ได้ไม่ผิดพลาด นอกจากนี้พยานหลักฐานอื่นยังสอดคล้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างมีเหตุผลยืนยันได้ว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกอีก 2 คน ขับรถจักรยานยนต์มาจอดรอผู้เสียหายอยู่บริเวณที่เกิดเหตุก่อนแล้ว เมื่อผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 วิ่งเข้ามาต่อยผู้เสียหายเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ที่เข้ามารุมชกต่อยผู้เสียหายด้วย แล้วจำเลยที่ 1 วิ่งกลับไปที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 นำเหล็กขูดชาฟท์ที่วางอยู่บนตะแกรงหน้ารถมาแทงผู้เสียหายที่ใต้ราวนมด้านขวา 1 ครั้ง หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้ารุมชกต่อยผู้เสียหาย เห็นว่า ในส่วนของจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างพกอาวุธมีดมาในที่เกิดเหตุ และในขณะที่จำเลยที่ 1 วิ่งไปเอาเหล็กขูดชาฟท์ที่ตะแกรงหน้ารถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 มาแทงผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ก็ใช้อาวุธมีดแกว่งมิให้บุคคลอื่นเข้าช่วยเหลือผู้เสียหาย ซึ่งเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวแล้ว ยังไม่อาจรับฟังได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ตัดสินใจวิ่งกลับไปเอาเหล็กขูดชาฟท์มาแทงผู้เสียหายในฉับพลันทันที อันเกิดจากการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 โดยลำพัง ขณะที่จำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้มีดพกมาฟันผู้เสียหายอันจะเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ในลักษณะเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหาย ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 เพียงแต่ใช้อาวุธมีดแกว่งมิให้บุคคลอื่นเข้าช่วยเหลือผู้เสียหายโดยไม่ได้เข้าร่วมทำร้ายผู้เสียหายเอง ถือไม่ได้ว่ามีเจตนาเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ขณะกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และฎีกาของโจทก์ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 แม้จะทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 พาอาวุธมีดไปยังที่เกิดเหตุด้วย แต่ขณะที่จำเลยทั้งสี่รุมชกต่อยผู้เสียหายนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้หยิบเหล็กขูดชาฟท์ติดตัวไปตั้งแต่ครั้งแรก แต่จำเลยที่ 1 ตัดสินใจวิ่งกลับไปที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แล้วนำเหล็กขูดชาฟท์ที่วางอยู่บนตะแกรงหน้ารถมาแทงผู้เสียหายเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามลำพังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำการอย่างใดอันจะมีพฤติการณ์เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิดหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ลำพังข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำอาวุธมีดติดตัวมายังที่เกิดเหตุด้วย ยังไม่เพียงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 พยายามฆ่าผู้เสียหาย ดังนั้นพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมิได้ร่วมกระทำกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น แต่จากข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าไปร่วมชกต่อยผู้เสียหาย ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส แม้จะมิได้เกิดจากที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชกต่อยแต่ก็เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องรับในผลแห่งการกระทำดังกล่าว จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 อยู่ด้วย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215, 225

อนึ่งระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 297 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายจนผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟัง แต่ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ โดยให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำงานบริการสังคมตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรคนละ 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3

สรุป ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา กับทั้งไม่ใช่กรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาได้ การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาและรับฎีกาในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบ ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ย่อมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี@lawyers.in.th

Facebook Comments