Home คดีแพ่ง มอบอำนาจฟ้องคดีแพ่งทำได้หรือไม่

มอบอำนาจฟ้องคดีแพ่งทำได้หรือไม่

4105

มอบอำนาจให้ดำเนินคดีแพ่งทำได้หรือไม่

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 60 ซึ่งบัญญัติว่า

คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือผู้แทนโดยชอบธรรมในกรณีที่คู่ความเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือผู้แทนในกรณีที่คู่ความเป็นนิติบุคคล จะว่าความด้วยตนเองและดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวงตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์ของตน หรือจะตั้งแต่งทนายความคนเดียวหรือหลายคนให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนก็ได้ ถ้าคู่ความ หรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลใดเป็นผู้แทนตนในคดี ผู้รับมอบอำนาจเช่นว่านั้นจะว่าความอย่างทนายความไม่ได้ แต่ย่อมตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้

ดังนั้น การมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินคดีแทน ผู้รับมอบอำนาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ถ้าเป็นนิติบุคคลต้องอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นด้วย

ข้อสังเกต
การดำเนินคดีในศาลนั้น ตัวความ ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนนิติบุคคล มีอำนาจว่าความด้วยตนเองได้ และยังดำเนินกระบวนพิจารณาต่างๆ เรียบเรียงคำฟ้องหรือคำคู่ความต่างๆได้ด้วย หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินคดีแทนก็ได้(ฎีกาที่596/2536)
* ในทางปฏิบัติ คู่ความ ไม่ได้มีความสามารถในการว่าความด้วยตนเองทุกคน เพียงแต่กฎหมายเปิดช่องให้ดำเนินกระบวนพิจารณา ด้วยตนเองได้ จึงต้องใช้ทนายความ ในการดำเนินกระบวนพิจารณา*

กรณีที่คู่ความทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินคดีแทนนั้น ผู้รับมอบอำนาจย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณา เช่น เรียบเรียงคำฟ้องหรือคำคู่ความ ลงชื่อในคำฟ้องหรือคำให้การ ตลอดจนแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีได้ แบบผู้นั้นจะไม่ได้มีวิชาชีพเป็นทนายความก็ตาม แต่ผู้รับมอบอำนาจนี้จะว่าความอย่างทนายความ เช่นทำการสืบพยานหรือซักถามพยานไม่ได้ (มาตรา60วรรคสอง) แม้ว่าผู้รับมอบอำนาจจะเป็นผู้มีวิชาชีพเป็นทนายความก็ตาม(ฎีกาที่ 2497/2516ป.)

กรณีเช่นนี้ต้องแต่งตั้งทนายความให้ว่าความแทน โดยตัวความอาจแต่งตั้งให้ผู้รับมอบอำนาจที่มีวิชาชีพทนายความ เป็นทนายความด้วยในขณะเดียวกัน (ฎีกาที่938/2530)

หรือผู้รับมอบอำนาจซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพทนายความอยู่แล้วก็แต่งตั้งตัวเองเป็นทนายความได้ (เช่น ทนายความคดีของธนาคาร สถาบันการเงินต่างๆ)

กรณีผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนเป็นองค์กรที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลเป็นการไม่ชอบ มีตัวอย่างฎีกาที่ 827/2560
องค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทยไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่มีกฎหมายรองรับไม่อาจดำเนินคดีแทนจำเลยได้ คดีนี้จำเลยมอบอำนาจให้องค์การตรวจสอบอํานาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นผู้ดำเนินคดีแทน การที่ ส. ประธานองค์การตรวจสอบอํานาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทย ลงลายมือชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์และผู้เขียน เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(11) ประกอบมาตรา 67(5)และ 246

สรุปการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแพ่งสามารถกระทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

Athip Schumjinda
5/1/2020

Facebook Comments