Home คดีอาญา เล่นแชร์ โดยประมูลดอกเบี้ยสูงในอัตราเกินกฎหมายกำหนดได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่

เล่นแชร์ โดยประมูลดอกเบี้ยสูงในอัตราเกินกฎหมายกำหนดได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่

4283

เล่นแชร์ โดยประมูลดอกเบี้ยสูงในอัตราเกินกฎหมายกำหนดได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2506

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ รับเงินไปครบแล้ว 14,320 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินกู้ให้โจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจริงแต่จำเลยรับเงินไปเพียง 8,000 บาท ส่วนอีก 6,320 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ 8,000 บาทในระยะเวลา 16 เดือนอัตราร้อยละ 67 เศษต่อปี ดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกดอกเบี้ยจำนวนนี้จากจำเลย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้และค้ำประกันจริงและที่มาแห่งสัญญากู้คือ การเล่นแชร์ ซึ่งเป็นวิธีการกู้กันอย่างหนึ่งจากบุคคลหลายคนที่เป็นสมาชิก คือลูกวงแต่จำนวนเงินตามสัญญากู้ที่จำเลยทำให้ไว้กับโจทก์ต้นเงินเพียง 8,000 บาท ส่วนอีก 6,320 บาทเป็นดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ จึงพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะลูกหนี้และผู้ค้ำประกันชำระหนี้ 8,000 บาทแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การเล่นแชร์ด้วยวิธีประมูลดอกเบี้ยกันเช่นนี้คดีหาใช่เป็นการกู้เงินกันไม่ แต่เป็นข้อตกลงโดยเฉพาะในการเล่นแชร์กันเท่านั้น ฉะนั้น ข้อวินิจฉัยในกรณีดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นที่มีสารสำคัญสำหรับคดีนี้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ให้โจทก์ยึดถือไว้นั้นเป็นการตอบแทนกัน โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาว่า ถ้าโจทก์ต้องใช้หนี้แก่ผู้เล่นแชร์ตามข้อผูกพันระหว่างโจทก์กับผู้เล่นแชร์แล้ว จำเลยก็จะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามสัญญากู้ฉบับนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ไม่ส่งเงินตามข้อตกลงให้ผู้เล่นแชร์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดตามสัญญากู้ฉบับที่ตนแสดงเจตนาไว้ตามสัญญากู้นั้น โจทก์จึงนำสัญญากู้ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยได้ พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ 14,320 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นนายวงแชร์แบ่งหุ้นเป็น 20 หุ้น ๆ ละ 500 บาท มีข้อตกลงว่าผู้เล่นคนใดประมูลให้ดอกเบี้ยสูงในเดือนใด ก็ได้เงินทั้งหมดที่ผู้เล่นอีก 19 หุ้นลงไว้ไป ผู้เล่นคนใดประมูลได้เงินไปแล้วในเดือนต่อไปก็ต้องนำเงินค่าหุ้นและดอกเบี้ยที่ตนเสนอประมูลมาชำระแก่นายวงแชร์เพื่อจะได้จ่ายให้แก่ผู้ที่ประมูลได้ใหม่ในเดือนต่อไป จนกว่าจะครบ 20 หุ้นถ้าผู้เล่นคนใดไม่ชำระเงินตามที่ตกลงนายวงแชร์จะต้องรับผิดออกเงินใช้แทนผู้เล่นคนนั้น ๆ ตลอดไป สำหรับจำเลยที่ 1 ประมูลได้ในเดือน 4โดยเสนอให้ดอกเบี้ย 395 บาท ซึ่งในเดือนต่อ ๆ ไป จำเลยที่ 1 จะต้องนำต้นเงิน 500 บาทและดอกเบี้ยที่เสนอให้อีก 395 บาท รวม 895 บาทมาส่งให้แก่โจทก์อีก 16 งวด รวมเป็นเงิน 14,320 บาท แต่โจทก์ไม่ไว้ใจจำเลย จึงให้จำเลยทำสัญญากู้ให้ไว้ โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และปรากฏว่าเมื่อจำเลยประมูลได้รับเงินไปแล้วก็ค้างชำระไม่จ่ายเงินให้วงแชร์เดือนละ 895 บาทตลอดมา โจทก์จึงนำสัญญากู้มาฟ้อง

ในปัญหาเรื่องการเล่นแชร์นี้ ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้แล้วว่าไม่เข้าลักษณะเป็นการกู้ยืมเงิน ไม่เป็นการเข้าหุ้นส่วน ไม่เป็นการพนันขันต่อ พฤติการณ์ระหว่างนายวงแชร์กับลูกวงใกล้ไปในลักษณะค้ำประกัน เมื่อลูกวงทำให้นายวงแชร์ต้องออกเงินแทนลูกวงไป นายวงก็ย่อมมีสิทธิฟ้องให้ลูกวงชดใช้คืนได้ (นัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1327/2500) ฉะนั้น ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินที่จำเลยค้างชำระอยู่ได้ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งย่อมหมายความว่าจำเลยทั้งสองยังไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์ คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้มาทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 หาได้ร่วมเป็นผู้กู้ด้วยไม่ ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จึงควรเป็นผู้รับผิดต่อโจทก์เพียงในฐานะผู้ค้ำประกันเท่านั้น คือ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยคนใดจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดได้

พิพากษาแก้ว่า สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พร้อมด้วยค่าทนายชั้นฎีกานี้อีกสองร้อยบาทให้โจทก์แล้ว จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาของจำเลยเสีย

สรุป

การเล่นแชร์เปียหวยนั้น ผู้เล่นจะประมูลให้ดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายก็ได้เพราะไม่เข้าลักษณะเป็นการกู้ยืมเงิน

โจทก์ฟ้องให้จำเลยสองคนร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องซึ่งหมายความว่ายังไม่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์หากคดีได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 แล้วศาลย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่าจำเลย ที่ 2 ควรเป็นผู้รับผิดต่อโจทก์เพียงในฐานะผู้ค้ำประกันได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments