Home คดีอาญา ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ในเอกสารซึ่งเป็น พยานหลักฐานในคดีอาญา ศาลจะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่

ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ในเอกสารซึ่งเป็น พยานหลักฐานในคดีอาญา ศาลจะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่

5766

ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ในเอกสารซึ่งเป็น พยานหลักฐานในคดีอาญา ศาลจะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10194/2555

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท และให้จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 4 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คพิพาท ชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ โดยสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จะถือว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายอันจะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับคู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ซึ่งห้ามเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญา ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาท เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดินส่วนที่เหลือ จำนวน 400,000 บาท โดยมีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาแสดง ก็ถือว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การสั่งจ่ายเช็คพิพาท เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินหรือสัญญาซื้อขายที่ดิน จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ความประสงค์หรือเจตนาแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการของจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อที่ดินซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่มีเจตนาออกเช็คพิพาท จำเลยทั้งสองฎีกาประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นการประกันการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนแก่โจทก์นั้นก็เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักแก่การรับฟัง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่าไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ชดใช้หรือพยายามจะชดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์แต่ประการใดที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานไม่ได้ ซึ่งห้ามเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดินส่วนที่เหลือ โดยมีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาแสดง ก็ถือว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ความประสงค์หรือเจตนาแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อที่ดิน โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เป็นการร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่มีเจตนาออกเช็คพิพาท

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments