จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายคนเดียวแต่หลายครั้งต่างวันเวลา เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5368/2562
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283 ทวิ, 284, 310, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 284 วรรคแรก (เดิม), 310 วรรคแรก (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 (ที่ถูก มาตรา 76) ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีกับความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 5,000 บาท ฐานพาบุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท ฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี และปรับ 10,000 บาท ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี กระทงละ 2 ปี 6 เดือน และปรับกระทงละ 2,500 บาท ฐานพาบุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 9 เดือน และปรับ 3,000 บาท ฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ฐานหน่วงเหนี่ยวกังขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุก 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 5 ปี 33 เดือน และปรับ 14,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายกับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกจำเลย 5 ปี 27 เดือน ไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่ลงโทษปรับ จำหน่ายคดีสำหรับความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยการขู่เข็ญเสียจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม (เดิม) ฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยการขู่เข็ญ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม) ฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก (เดิม) และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) สำหรับความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยการขู่เข็ญ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ความผิดดังกล่าวเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อจำเลยนำเงิน 30,000 บาท มาจ่ายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง และผู้เสียหายทั้งสองรับเงินไปแล้ว แปลได้ว่าผู้เสียหายทั้งสองถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป และพิพากษาให้จำหน่ายคดีสำหรับความผิดฐานดังกล่าวเสียจากสารบบความ ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยการขู่เข็ญจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไป เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม) และฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก (เดิม) นั้น ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 บัญญัติว่า ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ (3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี โดยความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ส่วนความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก (เดิม) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าว จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดระหว่างวันที่ 20 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2549 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 19 กรกฎาคม 2560 เกินกว่า 10 ปี คดีโจทก์ทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร รับฟังได้หรือไม่ว่าจำเลยกระทำผิด และความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามฟ้องโจทก์เป็นความผิดกรรมเดียวหรือความผิดสองกรรม คดีนี้ แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารและความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามฟ้องโจทก์เป็นความผิดหลายกรรม โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ก็ตาม แต่ปัญหาว่าการที่จำเลยรับสารภาพแล้วโจทก์นำสืบไม่ได้ว่ากระทำผิด และปัญหาว่าความผิดตามฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ จำเลยก็สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 โดยความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โจทก์ฎีกาทำนองว่า การกระทำของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการพราก ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนั้น เห็นว่า คำว่า “พราก” ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 หมายความว่า พาไปหรือแยกออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะไปอยู่ที่ใด หากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เอาใจใส่อยู่ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลา คดีนี้ได้ความตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ว่า ผู้เสียหายที่ 2 จะพักอาศัยอยู่กับยาย แต่ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 มาพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบิดา เพื่อนของผู้เสียหายที่ 2 แนะนำให้รู้จักกับจำเลยก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 ถึง 3 วัน วันเกิดเหตุจำเลยมาตกเบ็ดกับภริยาและลูก จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บ้านของจำเลยโดยพาภริยาและลูกไปด้วย ผู้เสียหายที่ 2 มีปัญหาทะเลาะกับผู้เสียหายที่ 1 จึงไปกับจำเลย แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปบ้านเพื่อนของจำเลยที่บ้านน้ำเค็ม โดยจำเลยไม่ได้ให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกไปไหน แล้วนอนค้างคืนที่บ้านน้ำเค็ม ในคืนดังกล่าวจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยขู่ว่าหากไม่ยอมให้จำเลยกระทำชำเราจำเลยจะฆ่า ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 แจ้งต่อจำเลยว่าต้องการกลับบ้านแต่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่จังหวัดภูเก็ต โดยจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บ้านหลังหนึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นบ้านญาติของจำเลยหรือไม่ และให้อยู่เฉพาะภายในบ้านไม่ให้ออกไปข้างนอก ในคืนดังกล่าวจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 อีกครั้ง ดังนี้ การที่ผู้เสียหายที่ 2 มาพักอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ในช่วงเวลาเกิดเหตุ แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายที่ 1 รับภาระเอาใจใส่ดูแลผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในขณะเกิดเหตุ ถือได้ว่าผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่ผู้เสียหายที่ 2 มีปัญหาทะเลาะกับผู้เสียหายที่ 1 และไปกับจำเลย ก็เพราะจำเลยพาภริยาและบุตรไปด้วย ผู้เสียหายที่ 2 มิได้ยินยอมและไม่ทราบว่าจำเลยจะพาไปกระทำชำเรา ทั้งไม่ได้ทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 2 ต้องหมดสิ้นลง ผู้เสียหายที่ 2 ยังคงอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 เมื่อจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปในที่ต่าง ๆ และกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 1 มิได้อนุญาต และมิได้รู้เห็นยินยอม การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการรบกวนและล่วงละเมิดต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้
ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามฟ้องโจทก์ เป็นความผิดกรรมเดียวหรือความผิดสองกรรมนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ และความผิดดังกล่าวกฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำไม่เกินห้าปี ศาลชั้นต้นจึงฟังข้อเท็จจริงไปตามฟ้องและพิพากษาคดีโดยไม่จำต้องสืบพยาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคแรก ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายว่า ระหว่างวันที่ 20 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2549 จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 โดยการนำผู้เสียหายที่ 2 ไปกักขังไว้ที่บ้านเพื่อนของจำเลย ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และบ้านญาติของจำเลย ตำบลและอำเภอใดไม่ปรากฏชัด จังหวัดภูเก็ต และโจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2549 เหตุเกิดที่ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และวันที่ 22 มกราคม 2549 เหตุเกิดที่ตำบลและอำเภอใดไม่ปรากฏชัด จังหวัดภูเก็ต แสดงว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ครั้งแรกที่บ้านเพื่อนของจำเลยตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ในวันที่ 21 มกราคม 2549 และวันที่ 22 มกราคม 2549 จำเลยได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บ้านญาติของจำเลย จังหวัดภูเก็ต แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 อีกครั้ง เห็นได้ว่า การกระทำชำเราของจำเลยในแต่ละครั้งแม้กระทำไปโดยมีเจตนากระทำชำเราเหมือนกัน แต่จำเลยได้กระทำต่อผู้เสียหายที่ 2 ต่างวันต่างเวลาและต่างสถานที่ คนละจังหวัดกัน มิได้กระทำต่อเนื่องกันแต่อย่างใด จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าเป็นความผิดสองกรรมนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพโดยตลอดและไม่ติดใจสืบพยาน แสดงถึงว่ารู้สึกสำนึกในการกระทำผิดของตน และผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า หากจำเลยบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงินจำนวน 30,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 ก็ไม่ติดใจเอาความผิดกับจำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไป และปรากฏว่าจำเลยนำเงิน 30,000 บาท มาวางศาลเพื่อชำระแก่ผู้เสียหายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสองรับเงินไปแล้ว เมื่อผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจดำเนินคดี ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสแก่จำเลยได้กลับตัวสักครั้ง โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ แต่เพื่อให้หลาบจำเห็นควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม) และมาตรา 310 วรรคแรก (เดิม) คงลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมจำคุก 5 ปี 18 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง และให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนดเวลา 24 ชั่วโมง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
สรุป จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ครั้งแรกที่บ้านเพื่อนของจำเลย จังหวัดพังงา ในวันที่ 21 มกราคม 2549 และวันที่ 22 มกราคม 2549 จำเลยได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บ้านญาติของจำเลย จังหวัดภูเก็ต แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 อีกครั้ง การกระทำชำเราของจำเลยในแต่ละครั้งแม้กระทำไปโดยมีเจตนากระทำชำเราเหมือนกัน แต่จำเลยได้กระทำต่อผู้เสียหายที่ 2 ต่างวันต่างเวลาและต่างสถานที่ คนละจังหวัดกัน มิได้กระทำต่อเนื่องกันแต่อย่างใด จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน