Home คดีอาญา ผู้จัดการมรดกตาย สามารถยื่นคำร้องขอแทนที่คู่ความผู้มรณะได้หรือไม่ (มีฎีกา)

ผู้จัดการมรดกตาย สามารถยื่นคำร้องขอแทนที่คู่ความผู้มรณะได้หรือไม่ (มีฎีกา)

6918

ผู้จัดการมรดกตาย สามารถยื่นคำร้องขอแทนที่คู่ความผู้มรณะได้หรือไม่ (มีฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4547/2562

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมจิตต์ ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้อง หรือเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง

ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสอง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องเสียจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 6 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่ศาลสั่งคืนให้เป็นพับ

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาปรากฏว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมจิตต์ ผู้ตาย แต่งตั้งนายพงษ์ชาญ เป็นทนายความของผู้ร้องในการคัดค้านคำร้องขอถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 และผู้ร้องมอบอำนาจให้นางสาวทิพาพร ซึ่งเป็นบุตรของผู้ร้องดำเนินคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้แล้ว ผู้ร้องถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2559 ผู้ร้องอุทธรณ์โดยทนายผู้ร้องเป็นผู้กระทำการแทนและลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องเสียจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ผู้ร้องฎีกาโดยทนายผู้ร้องเป็นผู้กระทำการแทนและลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา ดังนี้ การที่ผู้ร้องแต่งตั้งทนายความและทำหนังสือมอบอำนาจให้นางสาวทิพาพรดำเนินคดีแทน ทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 ซึ่งกรณีที่ตัวการถึงแก่ความตายนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 826 วรรคสอง บัญญัติว่า อนึ่งสัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไป เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย หรือ… เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับข้อสัญญาหรือสภาพแห่งกิจการนั้น ซึ่งแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 จะบัญญัติว่า เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวการตายก็ดี … ท่านว่าตัวแทนต้องจัดการอันสมควรทุกอย่างเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์อันเขาได้มอบหมายแก่ตนไป จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวการจะอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้น ๆ ได้ ก็ตาม แต่การขอตั้งผู้จัดการมรดก การเป็นผู้จัดการมรดก หรือการคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้องเท่านั้น และกรณีเช่นนี้ทายาทของผู้ร้องไม่อาจเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ได้ การที่ผู้ร้องถึงแก่ความตายก่อนยื่นอุทธรณ์ จนต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้มีคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว ทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องย่อมหมดสภาพจากการเป็นทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้อง และถือว่าล่วงเลยเวลาที่ทนายผู้ร้องจะจัดการอันสมควรเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ที่ผู้ร้องมอบหมายแก่ตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 แล้ว จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้องอีกต่อไป การที่ผู้ร้องฎีกาโดยทนายผู้ร้องเป็นผู้กระทำการแทนและลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกฎีกาของผู้ร้อง คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่ศาลสั่งคืนให้เป็นพับ

สรุป การขอตั้งผู้จัดการมรดก การเป็นผู้จัดการมรดก หรือการคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้อง ทายาทของผู้ร้องไม่อาจเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ได้ ผู้ร้องถึงแก่ความตายก่อนยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาให้จำหน่ายคดีของผู้ร้อง ทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องย่อมหมดสภาพจากการเป็นทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้อง และถือว่าล่วงเลยเวลาที่ทนายผู้ร้องจะจัดการอันสมควรเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ที่ผู้ร้องมอบหมายแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 แล้ว จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้องอีกต่อไป การที่ผู้ร้องฎีกาโดยทนายผู้ร้องเป็นผู้กระทำการแทนและลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องมาเป็นการไม่ชอบ

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments