Home คดีแพ่ง หลักการใดบ้างที่ศาลฎีกา ใช้วินิจฉัยเรื่องอายุความในคดีละเมิด

หลักการใดบ้างที่ศาลฎีกา ใช้วินิจฉัยเรื่องอายุความในคดีละเมิด

7303

หลักการใดบ้างที่ศาลฎีกา ใช้วินิจฉัยเรื่องอายุความในคดีละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2562

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำการป้องกันมิให้เกิดการทรุดพังทลายของดินในแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะไม่มีชื่อดังกล่าวอีกต่อไป โดยใช้กล่องเกเบี้ยนบรรจุหินขนาดใหญ่ขนาด 2 x 1 x 1 เมตร ประกอบการบดอัดดินเดิมทับบนแผ่นเสริมกำลังดิน และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะไม่มีชื่อดังกล่าวให้กลับมีสภาพเป็นดังเดิมก่อนหน้าที่จะพังทลายลง โดยทำการถมและบดอัดดินจำนวน 36,400 ลูกบาศก์เมตร ให้เป็นแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะไม่มีชื่อดังกล่าว หากจำเลยทั้งห้าไม่สามารถกระทำได้ให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 15,060,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำการป้องกันมิให้เกิดการทรุดพังทลายของดินในแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะไม่มีชื่อตามคำฟ้อง โดยใช้กล่องเกเบี้ยน บรรจุหินใหญ่ขนาด 2 x 1 x 1 เมตร ประกอบการบดอัดดินเดิมทับบนแผ่นเสริมกำลังดิน Giogrid และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะไม่มีชื่อดังกล่าวให้กลับมีสภาพเป็นดังเดิมก่อนหน้าที่จะพังทลายโดยการถมและบดอัดดิน 36,400 ลูกบาศก์เมตร ให้เป็นแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะไม่มีชื่อดังกล่าว หากจำเลยทั้งห้ากระทำการดังกล่าวไม่ได้ให้ร่วมกันชำระเงิน 8,820,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2555 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 150,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 50,000 บาท ทั้งนี้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601

โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำการป้องกันมิให้เกิดการทรุดพังทลายของดินในแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณประโยชน์ไม่มีชื่อที่พิพาท โดยใช้กล่องเกเบี้ยน บรรจุหินใหญ่ขนาด 2 x 1 x 1 เมตร ประกอบการบดอัดดินเดิมทับบนแผ่นเสริมกำลังดิน Giogrid และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณประโยชน์ไม่มีชื่อดังกล่าวให้กลับมีสภาพเป็นดังเดิมก่อนที่จะพังทลายโดยการถมและบดอัดดิน 36,400 ลูกบาศก์เมตร ให้เป็นแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณประโยชน์ไม่มีชื่อดังกล่าว หากจำเลยทั้งห้ากระทำการดังกล่าวไม่ได้ให้ร่วมกันชำระเงิน 15,060,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2555 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งห้าฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าประการแรกว่า การพังทลายของถนนสาธารณะเกิดจากการขุดดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4774 หรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การพังทลายของถนนสาธารณะเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการขุดดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4774 มิได้เกิดขึ้นจากเหตุธรรมชาติหรือน้ำกัดเซาะตามที่จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้ จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และนายบุญมีร่วมกันขุดดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4774 โดยขุดดินในที่ดินดังกล่าวต่อเนื่องเรื่อยมาในลักษณะเป็นบ่อดินขนาดใหญ่มีความลึกประมาณ 10 ถึง 40 เมตร เกือบเต็มตลอดพื้นที่และห่างจากแนวเขตถนนสาธารณะไม่มีชื่อที่พิพาทไม่มากนัก และในการขุดดินในที่ดินแปลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 และนายบุญมีไม่ได้ทำการใดที่เป็นการจัดการป้องกันมิให้ดินที่อยู่ในแนวเขตทางสาธารณะและดินที่เป็นถนนสาธารณประโยชน์ไม่มีชื่อดังกล่าวพังลงมาหรือพังทลายเลื่อนไถลลงไปในที่ดินหรือบ่อดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งการขุดดินในลักษณะและสภาพดังกล่าวอาจเป็นเหตุอันตรายแก่ความอยู่มั่นคงแห่งถนนสาธารณประโยชน์ไม่มีชื่อที่โจทก์ทั้งสองมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกัน และจำเลยที่ 1 กับนายบุญมีอาจคาดหมายหรือเล็งเห็นได้ว่าในอนาคตดินที่อยู่ติดกับบ่อดินที่จำเลยที่ 1 และนายบุญมีร่วมกันขุดและดินที่อยู่ในแนวเขตทางสาธารณะและดินที่เป็นถนนสาธารณประโยชน์ไม่มีชื่อที่พิพาทซึ่งอยู่ติดกับที่ดินที่จำเลยที่ 1 และนายบุญมีร่วมกันขุดมีโอกาสสูงมากที่จะพังทลายเลื่อนไถลลงไปในที่ดินหรือบ่อดินที่จำเลยที่ 1 และนายบุญมีร่วมกันขุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1342 และมาตรา 1343 ซึ่งเป็นการบรรยายฟ้องในลักษณะเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่โจทก์ทั้งสองกลับละเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทางสาธารณประโยชน์ในขณะที่ยังไม่เสียหายหรือพังทลายลงจนล่วงเลยถึงปี 2555 ทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวได้พังทลายเสียหายเป็นพื้นที่กว้าง จึงมาฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ เมื่อโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ตามกฎหมายแต่ละเลยไม่ปฏิบัติ จึงมีส่วนทำผิดก่อให้เกิดความเสียหายในครั้งนี้ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดค่าสินไหมทดแทนกับผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 โดยที่จำเลยทั้งห้ามิได้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า การพังทลายของถนนสาธารณะเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการขุดดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4774 มิได้เกิดขึ้นจากเหตุธรรมชาติหรือน้ำกัดเซาะแต่อย่างใด คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทในชั้นอุทธรณ์ว่า การพังทลายของถนนสาธารณะเกิดขึ้นจากการขุดดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการ ทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4774 หรือไม่ และข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า การพังทลายของถนนสาธารณะเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการขุดดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4774 มิได้เกิดขึ้นจากเหตุธรรมชาติหรือน้ำกัดเซาะ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางสาธารณประโยชน์ที่พิพาทเป็นผลโดยตรงจากการร่วมกันกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และนายบุญมีนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นพ้องด้วย ก็เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 แล้วยังถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 การที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การทำละเมิดเกิดจากการกระทำโดยตรงของจำเลยที่ 1 และนายบุญมีเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องเพราะความเสียหายของถนนสาธารณประโยชน์ไม่มีชื่อไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และนายบุญมี จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าประการที่สองว่า จำเลยที่ 1 และนายบุญมีต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และนายบุญมีร่วมกันขุดดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4774 คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า การที่นายบุญมีเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เข้าไปขุดดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4774 มีชื่อนายบุญมีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองนั้น นายบุญมีต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเดิมนายบุญมีเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และนายบุญมีเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 การขุดดินในที่ดินแปลงนี้ นายบุญมีย่อมรู้เห็นเป็นอย่างดี เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกร้องเรียนว่าเป็นผู้ดำเนินการขุดดินในที่ดินดังกล่าวจนเป็นเหตุเกิดความเสียหายตามคำร้องเรียนของนางสาวอุไร เข้าไปดำเนินการขุดดินโดยเป็นผู้เช่าที่ดินมาจากนายบุญมี กรณีจึงไม่สามารถแยกออกได้ว่าการดำเนินการขุดดินในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นการดำเนินการเฉพาะจำเลยที่ 1 หรือเฉพาะส่วนตัวของนายบุญมีเอง การกระทำในลักษณะนี้ถือเป็นการร่วมกันขุดดินในที่ดินแปลงนี้ของนายบุญมีและจำเลยที่ 1 โดยไม่มีข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองและคำให้การของจำเลยทั้งห้าว่า จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินของนายบุญมี จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง แล้วยังถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นอีกด้วย การที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ว่า นายบุญมีเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 บัญญัติว่า ความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน ตามบทบัญญัติดังกล่าว หากนายบุญมีกระทำการในขอบอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว กิจการดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ นายบุญมีไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่มีอำนาจวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของนายบุญมีซึ่งเป็นตัวแทน นายบุญมีต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 และการขุดดินของนายบุญมีเป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ ดังนั้น นายบุญมีและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 จึงไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ดังนั้น การที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า นายบุญมีเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 หากกระทำในขอบอำนาจและวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ นายบุญมีไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต่อโจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองมิได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่า นายบุญมีกระทำโดยประมาทเลินเล่อและต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวต่อโจทก์ทั้งสอง นายบุญมีจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าประการที่สามว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าจะขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” แสดงว่า แม้ผู้ทำละเมิดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายแล้ว แต่เมื่อยังไม่เกิดความเสียหาย ผู้ทำละเมิดก็ยังไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจริง จึงต้องเริ่มนับอายุความแต่วันที่เกิดความเสียหายซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการละเมิด มิใช่นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะไม่มีชื่อดังกล่าวให้กลับมีสภาพเป็นดังเดิมก่อนหน้าที่จะพังทลายลง โดยทำการถมและบดอัดดินจำนวน 36,400 ลูกบาศก์เมตร ให้เป็นแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะไม่มีชื่อดังกล่าว หากจำเลยทั้งห้าไม่สามารถกระทำได้ให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนั้นเป็นเรื่องการเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งมีอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จากการตรวจสอบของคณะกรรมการของโจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 พบว่า ถนนที่พิพาทได้รับความเสียหายเนื่องจากมีการพังทลายของบ่อดินอย่างต่อเนื่องและรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของนางอุไร ประชาชนทั่วไปที่ใช้ถนนดังกล่าวในการสัญจรไปมาได้รับความเดือดร้อน และการพังทลายอย่างต่อเนื่องของบ่อดินยังรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว แสดงว่าการทำละเมิดเกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ครั้นวันที่ 23 กรกฎาคม 2554 คณะกรรมการตรวจสอบของโจทก์ที่ 2 รายงานให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้นธงชัย ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 2 ทราบ ต้องเริ่มนับอายุความในส่วนของโจทก์ที่ 2 อย่างเร็วที่สุดนับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป และวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 โจทก์ที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบ ต้องเริ่มนับอายุความในส่วนของโจทก์ที่ 1 อย่างเร็วที่สุดนับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป โดยถือว่า โจทก์ที่ 1 รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และโจทก์ที่ 2 รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ยังไม่พ้น 1 ปี คดีโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 ในส่วนของการเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และเมื่อความเสียหายจากการทำละเมิดอันเป็นหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดที่นายบุญมีร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำไว้ก่อนนายบุญมีถึงแก่ความตาย หนี้ดังกล่าวในส่วนของนายบุญมีย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้เป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมกันและร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสามบัญญัติว่า “…ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก” หมายถึง กรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่าหนึ่งปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นายบุญมีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ทั้งสองเพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเพิ่งเกิดขึ้นหลังจากนายบุญมีเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนายบุญมีในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับด้วย โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในส่วนของการเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำการป้องกันมิให้เกิดการทรุดพังทลายของดินในแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะไม่มีชื่อดังกล่าวอีกต่อไป โดยใช้กล่องเกเบี้ยน บรรจุหินขนาดใหญ่ขนาด 2 x 1 x 1 เมตร ประกอบการบดอัดดินเดิมทับบนแผ่นเสริมกำบังดิน ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ คดีโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกัน และศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งห้าที่เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งห้าต้องดำเนินการป้องกันมิให้เกิดการทรุดตัวพังทลายของดินในแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะไม่มีชื่อดังกล่าว โดยปรับปรุงเสถียรภาพความลาดด้วยการใช้กล่องเกเบี้ยนบรรจุหินใหญ่ขนาด 2 x 1 x 1 เมตร ประกอบการอัดดินเดิมทับบนแผ่นเสริมกำลังดิน Giogrid หากไม่สามารถร่วมกันทำการป้องกันเช่นนั้นได้ จำเลยทั้งห้าต้องร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องโดยแนบสำเนาแบบแปลนการก่อสร้างมาด้วย โดยระบุว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4774 ส่วนที่ติดต่อกับแนวเขตถนนสาธารณะที่พิพาทลึกประมาณ 40 เมตร จำเลยทั้งห้าให้การเพียงว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองฟ้องร้องสูงเกินจริง เป็นราคาที่ประเมินมาจากหน่วยงานของโจทก์ที่ 2 เอง หาได้ประเมินจากหน่วยงานที่เป็นกลาง ซึ่งเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งห้ายอมรับหรือปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ส่วนนี้ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แล้วยังถือว่าจำเลยทั้งห้ายอมรับตามข้อเท็จจริงในคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4774 ส่วนที่ติดต่อกับแนวเขตถนนสาธารณะที่พิพาทลึกประมาณ 40 เมตร การที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4774 ส่วนที่ติดต่อกับถนนสาธารณะที่พิพาทมีความลึกเพียง 15 เมตร จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ประกอบกับจำเลยทั้งห้าไม่เคยโต้แย้งว่า ค่าใช้จ่ายในการป้องกันมิให้เกิดการทรุดตัวพังทลายของดินในแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะไม่มีชื่อดังกล่าว เป็นเงิน 13,240,000 บาท เมื่อรวมกับค่าซ่อมแซมแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะไม่มีชื่อดังกล่าวอีก 1,820,000 บาท เป็นเงิน 15,060,000 บาท หากจำเลยทั้งห้าสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องแล้วเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่านั้น จำเลยทั้งห้าก็ไม่ต้องร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 30,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

สรุป

แม้ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่รางกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” แสดงว่าแม้ผู้ทำละเมิดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายแล้ว แต่เมื่อยังไม่เกิดความเสียหาย ผู้ทำละเมิดก็ยังไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจริง จึงต้องเริ่มนับอายุความแต่วันที่เกิดความเสียหายเป็นวันที่รู้ถึงการละเมิด มิใช่นับแต่วันที่รู้ถึงการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่ บ. ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำไว้ก่อน บ. ถึงแก่ความตาย หนี้ดังกล่าวในส่วนของ บ. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้เป็นทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติว่า “…ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก” หมายถึง กรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่าหนึ่งปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อ บ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ทั้งสองเพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเพิ่งเกิดขึ้นหลังจาก บ. เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ บ. ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับด้วย โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม

ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำการป้องกันมิให้เกิดการทรุดพังทลายของดินในแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะอีกต่อไป ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ คดีโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ไม่ขาดอายุความ

สรุปสั้น

สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจริง จึงต้องเริ่มนับอายุความแต่วันที่เกิดความเสียหายเป็นวันที่รู้ถึงการละเมิด มิใช่นับแต่วันที่รู้ถึงการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments