Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดีรับของโจรให้ยกฟ้อง

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดีรับของโจรให้ยกฟ้อง

8914

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ สู้คดีรับของโจรให้ยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2373/2562

จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 ของศาลชั้นต้น และเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน 20 วัน และในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 9 เดือน แม้คดีทั้งสองจะยังไม่ถึงที่สุดเพราะอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ฎีกา แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังต้องถูกบังคับตามผลของคำพิพากษาในคดีทั้งสองอยู่ ศาลฎีกาชอบที่จะนำโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีทั้งสองมานับต่อจากโทษจำคุกคดีนี้ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น จึงไม่มีโทษจำคุกในคดีดังกล่าวที่จะนำมานับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8491/2561

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร เป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยพร้อมกันทั้งสองข้อหาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนศาลอุทธรณ์ เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ตามที่โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2561

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง” แม้โจทก์จะนำสืบข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 336 ทวิ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพโดยรับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดตามบันทึกการจับ เอกสารหมาย จ.6 ก็ตาม แต่เมื่อคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ระบุมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษสูงขึ้น อันเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามมาตรา 336 ทวิ ศาลย่อมไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ ได้ เพราะเป็นการเกินคำขอที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องทั้งกรณีมิใช่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และวรรคห้า ปัญหาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 3 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องรับโทษดุจจำเลยที่ 3 ผู้ฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4526/2559

โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าองค์เทพเจ้ากิมอ้วงเอี๊ยะ องค์เทพเจ้าเตียงง่วยส่วย องค์เทพซำไซส่วยพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด และมีความเกี่ยวข้องกับทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด อย่างไร จึงรับฟังไม่ได้ว่าองค์เทพเจ้าทั้งสามองค์พร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนา แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานรับของโจรตามฟ้อง แต่ความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดจริงจึงจะลงโทษได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า องค์เทพเจ้าทั้งสามพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาแล้ว ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14359/2558

ในคดีความผิดฐานรับของโจรนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 รับทรัพย์ของกลางไว้ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของกลางนั้น จำเลยที่ 1 จะต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับแหวนทองฝังเพชรรูปข้าวหลามตัด 1 วง กล่องทองเหลืองรูปทรงกลมมีข้อความ “นครหลวงไทย” 3 กล่อง ตะกรุด 4 อัน และพระเครื่อง 50 องค์ ของกลาง โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ลำพังคำรับของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ซื้อทรัพย์สินดังกล่าวมาจากชายคนหนึ่ง และคำรับของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ให้การปฏิเสธในชั้นศาลว่าจำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีข้อสงสัยอยู่ตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14334/2558

ทรัพย์สินในความผิดฐานรับของโจรคดีนี้มิใช่ทรัพย์สินในความผิดฐานรับของโจรในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๗๑ – ๔๗๒/๒๕๕๗ และ ๒๓๑๐/๒๕๕๗ ของศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยที่ ๒ ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 ในทั้งสามคดีดังกล่าว และช่วงเวลากระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องคดีนี้กับคดีทั้งสามก็เป็นคนละช่วงเวลากัน กรณีไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ รับของโจรคดีนี้ในคราวเดียวกับการรับของโจรในคดีทั้งสาม ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7387/2558

ารที่จำเลยที่ 1 ครอบครองพระหลวงพ่อฤาษีลิงดำองค์ใหญ่ทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไปแล้วอ้างว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับยกให้จากบิดาซึ่งเป็นความเท็จ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับทรัพย์ดังกล่าวมาโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ซึ่งแตกต่างจากความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง กรณีเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่ข้อที่แตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียดคือต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์กับรับของโจรซึ่งมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10096/2557

ป. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 แต่เหตุรับของโจรโฉนดที่ดินเลขที่ 19724 และฐานใช้เอกสารปลอมเกิดวันที่ 13 ธันวาคม 2539 ขณะที่ ป. ยังมีชีวิตอยู่ ป. จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2) สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัว ส่วนโจทก์ผู้สืบสันดานจะมีสิทธิฟ้องแทน ป. ได้ต่อเมื่อ ป. ได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แต่ตามฟ้องและทางพิจารณาได้ความว่า ขณะ ป. มีชีวิต ป. ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย โฉนดที่ดินเลขที่ 19724 ตกทอดแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ มาตรา 1600 นั้น เป็นกรณีทรัพย์มรดกของ ป. ตกทอดแก่ทายาท เป็นสิทธิในทางแพ่งเท่านั้น แม้หากโจทก์จะมีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ก็ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในทางอาญาดังกล่าว

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments