Home คดีอาญา ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกนำที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิรวมไปขายฝาก ทายาทอื่นสามารถฟ้องเพิกถอนส่วนของตนได้หรือไม่ (มีฎีกา)

ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกนำที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิรวมไปขายฝาก ทายาทอื่นสามารถฟ้องเพิกถอนส่วนของตนได้หรือไม่ (มีฎีกา)

3376

ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกนำที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิรวมไปขายฝาก ทายาทอื่นสามารถฟ้องเพิกถอนส่วนของตนได้หรือไม่ (มีฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2562

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า สัญญาขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 519 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการย้ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนกลาง 4799 ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครสกลนคร เข้าบ้านเลขที่ 1518 ถนนเจริญเมือง (ซอยเจริญเมือง 3) ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครสกลนคร หากจำเลยที่ 2 เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า นางคำปุน และนางสาววุ้น เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ซึ่งบิดามารดาถึงแก่กรรมไปแล้ว นางคำปุนเป็นภรรยาของนายบุญยัง มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ จำเลยที่ 1 โจทก์ นายเฉลิมพล นางวิมลรัตน์ และนางสาวประภัสสร นางคำปุนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ส่วนนางสาววุ้นไม่มีคู่สมรสและไม่เคยรับผู้ใดเป็นบุตรบุญธรรมเสียชีวิตมา 48 ปีแล้ว ระหว่างยังมีชีวิตอยู่นางคำปุนและนางสาววุ้นถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 519 เมื่อนางสาววุ้นและนางคำปุนถึงแก่กรรมลงศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของบุคคลทั้งสอง จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนที่ดินคืนและจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกันมีกำหนด 1 ปี

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เพื่อเอาทรัพย์ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดกหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการรับจำนอง จำนำ หรือรับซื้อฝากมาเป็นเวลานานถึง 14 ปี ย่อมทราบดีว่าการจะรับซื้อฝากที่ดินควรจะต้องตรวจสอบการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของที่ดินที่จะรับซื้อฝากว่าตกอยู่ภายใต้สิทธิใดหรือไม่ ดังจะเห็นได้จากสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาท มีรายการปรากฏว่าเดิมที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นของนางคำปุนกับนางสาววุ้น ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอรับโอนที่ดินดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกของนางคำปุนและนางสาววุ้น จากนั้นขอรับโอนที่ดินดังกล่าวมาเป็นของตนในนามส่วนตัว แล้วจึงทำการขายฝากแก่จำเลยที่ 2 จากสารบัญจดทะเบียนดังกล่าวจำเลยที่ 2 ย่อมทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันแก่ทายาท ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนางสาวประภัสสรว่า เมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่มีการจดทะเบียนขายฝากครั้งที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้มาที่บ้านพิพาทซึ่งนางสาวประภัสสรก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวและได้เห็นได้ยินที่จำเลยทั้งสองพูดคุยกัน และยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า หลังจากที่โจทก์อุปสมบทแล้วได้จำพรรษาที่วัดศรีสุมังค์ซึ่งอยู่ห่างจากที่ดินพิพาทประมาณ 3 กิโลเมตร ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ปรากฏจากคำเบิกความและหนังสือรับรองของบริษัทของจำเลยที่ 2 ว่า มีที่อยู่ที่ตำบลเดียวกับที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 ก็น่าจะทราบว่านอกจากจำเลยที่ 1 แล้วยังมีทายาทอื่นที่ยังคงมีสิทธิในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว แม้จำเลยที่ 2 จะเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 แจ้งว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว และขณะที่จดทะเบียนรับซื้อฝากที่สำนักงานที่ดิน จำเลยที่ 2 ไม่ได้สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินว่าบรรดาทายาทของนางคำปุนกับนางสาววุ้นสละมรดกที่ดินพิพาทหรือไม่ก็ไม่อาจแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังคงต้องแบ่งให้แก่ทายาทอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทโดยสุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งมีทายาทด้วยกัน 5 คน โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เพื่อเอาทรัพย์ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 1 ใน 5 ส่วน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจขายฝากที่ดินพิพาทส่วนของตนได้จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นรวม 4 ใน 5 ส่วน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน, our website

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่น 4 ใน 5 ส่วน หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

สรุป ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทโดยสุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งมีทายาทด้วยกัน 5 คน โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เพื่อเอาทรัพย์ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 1 ใน 5 ส่วน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจขายฝากที่ดินพิพาทส่วนของตนได้ จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นรวม 4 ใน 5 ส่วน

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 0891427773 ไลน์ไอดี  @lawyers.in.th

Facebook Comments