Home คดีอาญา ผิดสัญญากู้แจ้งความกับตำรวจได้หรือไม่

ผิดสัญญากู้แจ้งความกับตำรวจได้หรือไม่

2083

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการฟ้องผิดสัญญา หรือให้กระทำการ งดเว้นกระทำการ และอื่นๆ ตามสัญญาต่างๆ หมายถึงการที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเจตนาเข้าผูกพันตนตามกฎหมายในผลแห่งสัญญานั้น เช่น สัญญากู้ยืมเงิน อันเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ใช้ไปหมดไป เป็นข้อพิพาทในทางแพ่ง ไม่ใช่ทางเป็นคดีอาญาหรือมีลักษณะการกระทำอื่นใด อันเป็นความผิดอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่อาจมีอำนาจรับแจ้งความหรือร้องทุกข์ของท่านได้นั้น เจ้าหนี้ท่านต้องนำคดีมาเสนอเป็นคำฟ้องต่อศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

#หมายเหตุเพิ่มเติมกู้ยืมเงินไม่ได้ทำสัญญาแต่กู้กันทาง LINE หรือ Facebook จะใช้เป็นหลักฐานได้หรือไม่นั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรค1การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้กู้เป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
กล่าวคือ กฎหมายกำหนดให้ กู้ยืมเงิน 2,000 บาท ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่การกู้ยืมเงินมากกว่า 2,000 เช่น 2,000.01 ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้เงินเป็นหนังสือ คำว่าหนังสือในที่นี่นอกจากหนังสือที่เป็นสัญญาที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว ศาลฎีกายังหมายความรวมถึง ข้อความในรูปแบบเล็กทรอนิกส์ที่ระบุบตัวตนได้ จากแหล่งที่มาที่มีน่าเชื่อถือ อีกด้วยนั้น

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556 ว่าด้วย พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 4 มีผลใช้บังคับตามมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว และมาตรา 9 บัญญัติว่า ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน…
ตัวอย่างในฎีกานี้ คือ เมื่อโจทก์มีมาแสดงประกอบใบคู่มือการใช้บริการ อันเป็นหลักฐานที่รับฟังได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและส่งรหัสส่วนตัวเสมือนลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ประกอบทั้งจำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ รวม 11 รายการ โจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อท้ายเอกสารมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้อีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

สรุปคือ กู้ยืมเงินไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาแต่หากมีการสนทนากู้ยืมเงินกันLINE หรือFacebook ก็เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างหนึ่งได้ โดยจะต้องมี

1. ข้อความสนทนา การกู้ยืม (Chat)
2. บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน (User Account)
3. หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ยืมเงิน (Slip) เพราะการกู้ยืมเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา650 ซึ่งต้องพิจารณาว่าสัญญานี้ย่อมสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบเงินกันแล้วนั้น โดยมีอายุความ ต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันถึงกำหนดชำระเงินกู้ยืมคืน
หรือ 5ปี สำหรับสัญญากู้ มีกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ

By ทนายอธิป ชุมจินดา , Preaw Preaw

Facebook Comments