Home คดีอาญา ขายฝากที่ดิน ในระหว่างที่เป็นความพิพาทกันอยู่ในศาล โดยเจตนาทุจริต มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่

ขายฝากที่ดิน ในระหว่างที่เป็นความพิพาทกันอยู่ในศาล โดยเจตนาทุจริต มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่

4717

ขายฝากที่ดิน ในระหว่างที่เป็นความพิพาทกันอยู่ในศาล โดยเจตนาทุจริต มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 352 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 3,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายแอนโทนี่ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 352 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ร่วม

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เพียงบทเดียว ส่วนโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อหาโกงเจ้าหนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยไว้แก่พันตำรวจเอกมนตรีภายหลังที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีดังกล่าวแล้วนั้น จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกหรือไม่ เมื่อคดีฟังเป็นยุติว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอกมนตรี โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่คืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวแล้วมานี้ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้บทลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยมีบุตรด้วยกัน 1 คน ซึ่งป่วยเป็นโรคออทิสติก ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากมารดาอย่างใกล้ชิด อีกทั้งพันตำรวจเอกมนตรียืนยันว่าจะขายทรัพย์พิพาทคืนให้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่จะนำไปแบ่งสินสมรสกันต่อไป ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย เพื่อให้โอกาสกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ ให้ลงโทษปรับด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 352 วรรคแรก ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

สรุป

โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments