Home คดีครอบครัว คดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนฯหรือไม่ ใครมีอำนาจพิจารณา มีวิธีการยื่นคำร้องอย่างไร

คดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนฯหรือไม่ ใครมีอำนาจพิจารณา มีวิธีการยื่นคำร้องอย่างไร

3497

คดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนฯหรือไม่ ใครมีอำนาจพิจารณา มีวิธีการยื่นคำร้องอย่างไร

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 15,237,207.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระแก่โจทก์ครบถ้วน หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินที่มีชื่อจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้โจทก์จนครบ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตามทะเบียนการสมรส สำนักทะเบียนเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เลขทะเบียนที่ 529/44421 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2552 เป็นโมฆะ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 8,531,965 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน ฏค 7811 กรุงเทพมหานคร รถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ญช 3814 กรุงเทพมหานคร และรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ STALLION หมายเลขทะเบียน สมล 942 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้โจทก์จำหน่ายที่ดินโฉนดเลขที่ 36354 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 399/218 หมู่ที่ 4 ตำบลลำปลาทิว อำเภอลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด โดยให้จำเลยผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายให้ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และให้โจทก์มีสิทธิในเงินที่จำหน่าย หากไม่ปฏิบัติตามให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ตามกฎหมาย แจ้งคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินทราบ และแจ้งการสมรสเป็นโมฆะให้นายทะเบียนทราบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะและให้จำเลยคืนเงิน 15,000,000 บาทเศษ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กับให้จำเลยผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแทนโจทก์ไปจดทะเบียนจำหน่ายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นการพิพากษาเกินไปจากคำขอของโจทก์ แล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เก๋ง รถยนต์กระบะและรถจักรยานยนต์กับให้โจทก์จำหน่ายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยให้จำเลยผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ไปจดทะเบียนจำหน่ายให้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยฎีกาโดยจำเลยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2533 จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนายอาร์เน่ ตามกฎหมายของราชอาณาจักรเดนมาร์ก ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2552 โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยในประเทศไทย โดยจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากับนายอาร์เน่ การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการจดทะเบียนสมรสในขณะที่จำเลยมีคู่สมรสอยู่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 อนึ่ง ในช่วงก่อนและหลังที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรส โจทก์โอนเงินจากธนาคารต่างประเทศเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่เปิดไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) รวม 7 ครั้ง เป็นเงิน 25,767,207.23 บาท จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 35574 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2546 โดยซื้อมาจากบริษัท โอ จี ซี เรียลเอสเตท จำกัด และจำนองไว้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในวันเดียวกัน และมีการไถ่ถอนจำนองเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553 และที่ดินโฉนดเลขที่ 36354 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 โดยซื้อมาจากบริษัทไดมอนด์ รัชดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด นอกจากนี้ยังมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน ฏค 7811 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ญช 3814 กรุงเทพมหานคร กับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ STALLION หมายเลขทะเบียน สมล 942 กรุงเทพมหานคร ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เงินที่โจทก์โอนเข้าบัญชีของจำเลยช่วงก่อนจดทะเบียนสมรสระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2552 จำนวน 168,875 บาท และช่วงหลังจดทะเบียนสมรสระหว่างเดือนธันวาคม 2552 ถึงเดือนมีนาคม 2553 จำนวน 76,057 บาท (ที่ถูก 76,057.23 บาท) โจทก์โอนมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายปลีกย่อยอันเกิดจากการคบหาใช้ชีวิตร่วมกันถือว่าเป็นการโอนให้โดยเสน่หาเพื่อใช้จ่ายทั้งส่วนตัวและร่วมกัน ส่วนเงินที่เหลือซึ่งโอนมาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 จำนวน 25,518,750 บาท มีการนำไปซื้อหน่วยลงทุน 20,000,000 บาท ต่อมาได้ขายหน่วยลงทุนได้เงินลงทุนพร้อมผลประโยชน์และโจทก์รับเงินไปแล้ว 10,000,000 บาท โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า การวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกา ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (เดิม) และคู่ความจะต้องร้องขอก่อนวันสืบพยาน แต่กรณีที่ศาลเห็นสมควรให้กระทำได้ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามมาตรา 11 วรรคสอง (เดิม) จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจส่งปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยและไม่มีอำนาจวินิจฉัย จึงให้ยกฎีกาจำเลยในปัญหานี้

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับรถยนต์ 2 คัน รถจักรยานยนต์ 1 คัน และที่ดินโฉนดเลขที่ 36354 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 399/218 เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบและเกินคำขอหรือไม่ โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยใช้เงิน 15,237,207.30 บาท พร้อมดอกเบี้ย ข้อเท็จจริงได้ความตามปัญหาประการที่สามว่า เงินส่วนที่โจทก์มีคำขอนั้นได้นำไปซื้อรถยนต์ 2 คัน รถจักรยานยนต์ 1 คัน และที่ดินโฉนดเลขที่ 36354 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 399/218 โดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเป็นเงิน 4,679,250 บาท ดังนี้ถือได้ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเข้าแทนที่เงินข้างต้นในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์ 2 คัน และรถจักรยานยนต์ 1 คัน ให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จึงไม่เป็นการเกินคำขอ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 36354 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 399/218 นั้น ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้” และวรรคสองบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 84 คนต่างด้าวดังกล่าวจะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย… และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี” มาตรา 94 บัญญัติว่า “บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นและให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” และมาตรา 96 บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้มาซึ่งที่ดินแห่งใดในฐานะเป็นเจ้าของแทนคนต่างด้าว หรือ… ให้อธิบดีมีอำนาจทำการจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติมาตรา 94 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ดังนั้น การได้ที่ดินของโจทก์โดยจำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน จึงเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น แต่นิติกรรมการได้ที่ดินของโจทก์ก็ใช่ว่าจะเสียเปล่าไม่มีผลใด ๆ เสียเลยไม่ เพราะโจทก์ยังมีสิทธิได้รับผลตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 อันจะจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ถ้าไม่จำหน่ายในเวลาที่กำหนด อธิบดีกรมที่ดินก็มีอำนาจจำหน่าย ซึ่งการบังคับจำหน่ายหมายความเฉพาะที่ดินเท่านั้น ไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้างกรรมสิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตาม หากขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรวมกันไป ย่อมจะได้ราคาดีกว่าแยกขาย และโจทก์ก็ฎีกาทำนองประสงค์ให้ขายรวมกัน ซึ่งเมื่อมีการจำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้วเงินที่ขายได้จึงเข้าแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันตกเป็นของโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำหน่ายที่ดินโฉนดเลขที่ 36354 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 399/218 ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดโดยให้จำเลยผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายให้ หากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและให้โจทก์มีสิทธิในเงินที่จำหน่าย หากไม่ปฏิบัติตามให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าไม่เป็นการเกินคำขอ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นตามปัญหานี้เป็นการพิพากษาเกินคำขอมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ตามปัญหาฟังขึ้น

อนึ่ง คำขอบังคับของโจทก์ ข้อ 3 ที่ว่า หากจำเลยไม่ชำระเงินหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินซึ่งเป็นชื่อของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระคืนโจทก์จนกว่าจะครบ นั้น เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ศาลชั้นต้นมิได้มีคำพิพากษา และศาลอุทธรณ์มิได้มีคำพิพากษาแก้ ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาแก้ในส่วนนี้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ยกคำขอบังคับข้อ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกากับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ

สรุป

การวินิจฉัยปัญหาว่า คดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (เดิม) และคู่ความต้องร้องขอก่อนวันสืบพยาน แต่กรณีที่ศาลเห็นสมควรให้กระทำได้ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามมาตรา 11 วรรคสอง (เดิม) จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจส่งปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย และไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้

การได้ที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวโดยจำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน เป็นการต้องห้ามตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่นิติกรรมการได้ที่ดินของโจทก์ก็ใช่ว่าจะเสียเปล่าไม่มีผลใด ๆ เสียเลยไม่โจทก์ยังมีสิทธิได้รับผลตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 อันจะจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดถ้าไม่จำหน่ายในเวลาที่กำหนด อธิบดีกรมที่ดินก็มีอำนาจจำหน่าย

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments