#คำร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร
หลักกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๔
บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็กในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็ก ไม่คัดค้าน หรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวัน นับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอก ประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวันในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่า ผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้
ข้อสังเกต
(๑) ก่อนหน้านี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๕๗/๒๕๒๕ วินิจฉัยไว้ว่า หากในขณะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรนั้น มารดาของเด็กได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว และเด็กก็มี อายุเพียง ๑ ปีเศษ มารดาเด็กและเด็กจึงไม่อาจคัดค้านหรือให้ความยินยอมในการขอจดทะเบียนได้ ถ้านายทะเบียนได้จดทะเบียนการรับรองบุตรให้แล้ว การจดทะเบียนดังกล่าว จึงเป็นอันสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมาย
(๒) ในกรณีที่มารดาเด็กถึงแก่ความตายไปก่อนที่บิดาจะจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรนั้น เห็นได้ว่าแม้มารดาเด็กจะถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม บิดาก็ยังสามารถจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรได้ โดยนำคดีขึ้นมาสู่ศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร เพราะถือว่ามารดาไม่อาจให้ความยินยอมได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๕๘ วรรคสาม
(๓) การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการที่จะต้องทำเองเฉพาะตัวตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓ ดังนั้น แม้บิดาเด็กจะยังไม่บรรลุนิติภาวะ บิดาเด็กก็ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของตนเองก่อนเช่นเดียวกับกรณีมารดาเด็กที่จะให้ความยินยอมต่อนายทะเบียน ก็เป็นการที่ต้องทำเองเฉพาะตัวด้วยเช่นกัน มารดาเด็กแม้จะเป็นผู้เยาว์ก็ไม่ต้องได้รับความ ยินยอมจากผู้ใดอีก
(๔) การนำคดีมาสู่ศาลนั้น อาจฟ้องเด็กเป็นจำเลยได้ ในกรณีที่เด็กยังไม่รู้เดียงสาที่จะให้ความยินยอมได้ อาจกระทำเป็นคำร้องขอต่อศาลก็ได้ เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรของตน และแม้บิดาเด็กจะยังเป็นผู้เยาว์อยู่ก็สามารถฟ้องคดี หรือร้องขอต่อศาลได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของตนด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๒๐/๒๕๐๑
การที่หญิงจำเลยรับว่าบุตรของตนเกิดจากชายผู้เป็นโจทก์ โดยโจทก์จำเลยได้ เสียกัน แต่มิได้จดทะเบียนสมรส เพียงเท่านี้ยังไม่เป็นเหตุพอชี้ขาดให้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตรของโจทก์ทีเดียว ในเมื่อฝ่ายจำเลยยังคัดค้านอยู่ จำต้องพิจารณาต่อไปว่า มีเหตุผล อย่างใดที่จะให้ศาลมีคำพิพากษาให้จดทะเบียนตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๔๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๔๗/๒๕๒๑
บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหากประสงค์จะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรที่เกิดก่อนสมรส ให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย จะต้องไปขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต่อสำนักทะเบียน ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านการขอจดทะเบียนบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงจะมีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลได้ โดยฟ้องเด็กและมารดาเด็กร่วมกันเป็นจำเลย และเมื่อปรากฏจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์และทางนำสืบว่า ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยไป ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน หรือจำเลยได้คัดค้านการขอจดทะเบียน ข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายจึงยังไม่เกิดขึ้นแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาล
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716