เมื่อชายหญิงจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว นอกจากเรื่องของการจัดการสินสมรสร่วมกัน , เรื่องสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันตามกฎหมายแล้ว ยังมีเรื่องของหนี้สินที่หากสามีหรือภริยาไปก่อให้เกิดขึ้น อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องร่วมกันรับผิดต่อเจ้าหนี้ด้วย แต่การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปก่อให้เกิดหนี้ขึ้นโดยพลการหรือเป็นการส่วนตัว กฎหมายจึงได้ตีกรอบและกำหนดประเภทของหนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งว่าหนี้ชนิดใดที่ถือว่าเป็น “หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา” ที่จะต้องรับผิดร่วมกัน แต่ถ้าไม่ใช่สามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จะนำหลักเรื่องหนี้ร่วมของสามีภริยามาใช้บังคับไม่ได้ ต้องใช้หลักของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั่วไป

มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

1.หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว และการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ขอให้สังเกตนะครับว่า หนี้ร่วมทั้ง 5 ประการตามข้อนี้ เน้นบุคคลที่อยู่ในครอบครัว เป็นหลัก และจำนวนหนี้ต้องพอสมควรแก่อัตภาพ ฉะนั้น ไม่ว่าสามีหรือภริยาเป็นผู้ไปก่อขึ้นแม้จะไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

2.หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส (สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หรือที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือซึ่งพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส หรือดอกผลของสินส่วนตัว) เช่น หนี้ค่าจ้างต่อเติมซ่อมแซมบ้านที่เป็นสินสมรส หนี้เงินกู้ยืมมาเพื่อไถ่ถอนบ้านหรือที่ดินที่เป็นสินสมรส ฯลฯ

3.หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน เช่น การเปิดร้านหรือกิจการค้าด้วยกัน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในกิจการค้า เช่น ค่าสินค้า ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่า เป็นต้น หนี้ตามข้อนี้อาจเกิดขึ้นจากฝ่ายสามีหรือภริยาเพียงฝ่ายเดียวเป็นผู้ไปก่อขึ้นก็ได้

4.หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน ถ้าว่ากันตามหลักเบื้องต้นฝ่ายใดไปก่อหนี้ขึ้นโดยลำพังเพื่อประโยชน์ตนเพียงฝ่ายเดียว ก็น่าจะผูกพันเฉพาะฝ่ายที่ไปก่อให้เกิดหนี้ขึ้น แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน (ฎ.๗๖๓๑/๒๕๕๒) คือยอมรับว่าหนี้นั้นเป็นหนี้ของตนด้วย จึงถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา เช่น การลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ที่คู่สมรสของตนเป็นผู้กู้ หรือการให้ความยินยอมด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือในการที่คู่สมรสเป็นผู้กู้ในสัญญากู้ เป็นต้น

เมื่อเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา กฎหมายได้กำหนดว่า ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ในการบังคับชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องสามีภริยาเพื่อบังคับเอากับสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย แม้ว่าคู่สมรสอีกฝ่ายจะมิได้ลงชื่อร่วมในฐานะคู่สัญญาด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่ที่สำคัญ ถ้าเจ้าหนี้มิได้ฟ้องคู่สมรสฝ่ายที่มิได้ลงชื่อด้วย จะไปยึดสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้นมาบังคับชำระหนี้มิได้

คำพิพากษาฎีกาสินสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2554 ผู้ร้องซื้อรถยนต์คันพิพาทในระหว่างที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โดยผู้ร้องรวบรวมเงินมาซื้อโดยได้นำเงินบางส่วนที่ผู้ร้องเก็บสะสมมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลย และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเงินกู้ที่ได้มาเป็นเงินที่ผู้ร้องได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับจำเลย ย่อมถือเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6870/2556 แม้ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์จะเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่นก็ต้องถือว่าในส่วนที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพราะสินสมรสไม่จำต้องเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองเป็นฝ่ายร่วมกันทำมาหาได้ หากแต่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาก็ย่อมมีผลให้เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) โดยไม่จำต้องมีข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมก่อนจึงจะเป็นสินสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14040/2557 โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันและซื้อที่ดินพร้อมบ้านภายหลังจดทะเบียนสมรส แม้ที่ดินและบ้านระบุชื่อโจทก์เพียงฝ่ายเดียวแต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยได้มาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ซึ่งโจทก์และจำเลยต้องนำมาแบ่งกันเมื่อขาดจากการสมรสโดยได้ส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533

ดังนั้น การครองชีวิตครอบครัวจะต้องระมัดระวังเรื่องการก่อหนี้สินให้ดี หากอีกฝ่ายไปก่อหนี้ขึ้นมาอาจจะมีผลกระทบถึงคู่สมรสและความสงบสุขของครอบครัวได้
ถ้ารักใครชอบใคร ดูให้ดีก่อนว่ามีหนี้สินเยอะหรือไม่ ถ้ามีหนี้ติดตัวมาเยอะหรือมีนิสัยชอบก่อหนี้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ก่อนการจะจดทะเบียนก็คิดให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนครับ

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716

Facebook Comments