“ผู้เสียหายในคดีอาญา” ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(4) หมายถึง ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดทางอาญาฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงหรือแท้จริง

2. ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายโดยตรงหรือแท้จริง

โดยผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงหรือแท้จริง ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ

(1) ต้องมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น

(2) ต้องมีฐานะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล

(3) ต้องได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญาตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นหรือโดยพฤตินัย ซึ่งอาจมีผู้ได้รับความเสียหายมากกว่าหนึ่งราย ในฐานะที่แตกต่างกัน

(4) ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โดยศาลฎีกาเป็นผู้วางหลักเกณฑ์ คือ

(4.1) ต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม

(4.2) ต้องไม่ยินยอมให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

(4.3) ต้องไม่กระทำการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ส่วนผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายโดยตรงหรือแท้จริง ตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 4, 5 และ 6 คือ

(1) โดยความยินยอมของผู้เสียหายอย่างชัดแจ้ง

(2) โดยอำนาจของกฎหมาย ได้แก่ กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 คือ

(ก) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือ ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล

(ข) ผู้บุพการี คือผู้สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ตามความเป็นจริง ส่วนผู้สืบสันดานได้แก่ ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมา ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ ตามความเป็นจริง สามีหรือภริยาในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้าย ถึงตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ต้องเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย หากไม่ชอบด้วยกฎหมายสามารถใช้วิธีมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 (7)

(ค) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคล ในความผิดซึ่งกระทำแก่นิติบุคคลนั้น

(3) โดยคำสั่งศาล ให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 6 ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้วิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถที่ไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถกระทำการตามหน้าที่ได้ รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้นๆ ซึ่งศาลจะต้องเป็นผู้แต่งตั้งเฉพาะคดี โดยทำการไต่สวนก่อน จะตั้งกันเองไม่ได้ กรณีของบิดาต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรผู้เยาว์ ส่วนมารดานั้นถือเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรผู้เยาว์ แม้มิได้จดทะเบียนสมรสก็ตาม

กรณีที่ผู้เสียหายที่แท้จริงมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วยย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีสิทธิดำเนินคดีอาญาด้วยตนเอง ดังนั้น มารดาของผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีอาญาเเทน รวมทั้งไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) ประกอบ มาตรา 3 (2) และมาตรา 30

อย่างไรก็ตาม มารดาของผู้เสียหายยังคงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งตามป.วิ.อาญา มาตรา 44/1 แทนได้ แม้ผู้ตายจะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เพราะประเด็นว่าค่าสินไหมทดแทนจะต้องชดใช้กันมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2561 ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี บ. มารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บ. สองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่ บ. จะได้รับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

สรุป ผู้เสียหายต้องไม่มีส่วนในการกระทำผิดและต้องเป็นบุคคล หรือนิติบุคคลเท่านั้น

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716

Facebook Comments