Home คดีอาญา เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ ใช้รถหลุดจำนำมีความผิดฐานใดบ้าง

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ ใช้รถหลุดจำนำมีความผิดฐานใดบ้าง

7811

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2562

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 264, 265, 268, 335, 357 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย 200 บาท ริบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม ของกลาง

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ

จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันรับของโจร ร่วมกันปลอมเอกสารราชการและร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม ปฏิเสธข้อหาร่วมกันลักทรัพย์

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคหนึ่ง, 357 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83, 265 (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคหนึ่ง, 357 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบมาตรา 83, 265 (เดิม)) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันรับของโจร จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม จำคุก 4 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 7 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคหนึ่ง, 357 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 (ที่ถูก มาตรา 265 (เดิม), 268 วรรคหนึ่ง, 357 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบมาตรา 83) การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันรับของโจร จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการและร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมนั้น จำเลยที่ 2 เป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมนั้นเอง จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมแต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 4 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 7 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 6 เดือน ริบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอมของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และร่วมกันปลอมเอกสารราชการ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ คำขอให้คืนหรือชดใช้ราคาแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ร้อยตำรวจเอกกฤษณะ และร้อยตำรวจเอกศักดิ์ชัย พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่รู้จักและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน คำพยานโจทก์ทั้งสองจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ จำเลยที่ 2 ให้การว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ขณะจำเลยที่ 2 พักอยู่ที่ห้องเช่าของจำเลยที่ 1 ในหมู่บ้านเมืองทองธานีกับจำเลยที่ 1 นายบัตร ไม่ทราบชื่อสกุล ส่งข้อความถึงจำเลยที่ 2 ผ่านทางแอปพลิเคชั่นไลน์ ในโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 2782 xxxx พร้อมรูปรถกระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีดำ ติดแผ่นป้ายทะเบียน 1 ฒล 6107 กรุงเทพมหานคร แจ้งราคา 280,000 บาท ครอบมาเรียบร้อยแล้ว ไม่มีการแจ้งหายหรืออายัด ให้จำเลยที่ 2 หาลูกค้ามาซื้อรถยนต์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ส่งไลน์ต่อให้จำเลยที่ 1 ช่วยหาลูกค้าด้วย ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2558 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ถึงจำเลยที่ 2 แจ้งว่ามีลูกค้าต้องการดูรถ จำเลยที่ 2 จึงโทรศัพท์แจ้งนายบัตร นายบัตรแจ้งว่าจะให้นายจิรวัฒน์ ไม่ทราบชื่อสกุล ขับรถไปให้ดูตามเวลาที่จำเลยที่ 2 ต้องการ จำเลยที่ 2 จึงให้หมายเลขโทรศัพท์ของนายจิรวัฒน์แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 นัดเวลากับนายจิรวัฒน์เอง เมื่อขายรถได้แล้วจึงจะให้ค่าตอบแทนกันในภายหลัง นายจิรวัฒน์และจำเลยที่ 1 แจ้งจำเลยที่ 2 ว่าจะนำรถยนต์ไปส่งให้ลูกค้าที่หลังธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเมืองทองธานี จำเลยที่ 2 กำชับให้จำเลยที่ 1 ดูให้ดีว่าผู้ซื้อเป็นใคร ภายหลังจำเลยที่ 2 ทราบว่านายจิรวัฒน์และจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานจับกุมและยึดรถยนต์ดังกล่าวเป็นของกลาง จำเลยที่ 2 เคยขายรถยนต์ที่ผู้เช่าซื้อเอาจำนำแก่นายทุนของนายบัตรซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับรถยนต์ในคดีมาแล้วประมาณ 10 คัน จำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่า รู้จักกับจำเลยที่ 2 มานานกว่า 10 ปีแล้ว และเคยร่วมกับจำเลยที่ 2 ขายรถยนต์ในลักษณะเดียวกันกับคดีนี้มาแล้วหลายครั้ง จำเลยที่ 1 ย่อมมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการซื้อขายและตรวจสอบรถยนต์ว่าเป็นรถยนต์ที่ได้มาโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกกฤษณะได้ความว่า เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ซึ่งติดอยู่ที่กระจกรถยนต์ด้านหน้าที่ระบุ 1 ฒล 6107 กรุงเทพมหานคร ตัวอักษรและตัวเลขของเครื่องหมายดังกล่าวมีรอยแก้ไข และไม่ตรงกับเลขตัวถังรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งจะตรงกับรถที่มีหมายเลขทะเบียน 1 ฒถ 4817 กรุงเทพมหานคร ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่มีเอกสารหลักฐานใดเกี่ยวกับรถยนต์มาแสดง จำเลยที่ 1 ยังเบิกความว่า จำเลยที่ 2 แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ก่อนเกิดเหตุแล้วว่ารถยนต์ของกลางคดีนี้ได้เปลี่ยนทะเบียนรถ เนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวกำลังติดตามยึดรถคืน จึงต้องนำแผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์คันอื่นมาติดไว้แทน จากสภาพลักษณะรถยนต์ของกลาง คำบอกของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวและประสบการณ์การซื้อขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรู้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดเข้าลักษณะลักทรัพย์หรือยักยอก ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กับพวกนำรถยนต์ของกลางซึ่งติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอมและติดเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีปลอมไปส่งมอบให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมรับของโจรและร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมตามฟ้อง พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกว่า รถยนต์ของกลางเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) นางสาววิชชุดา ไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริง จึงไม่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์นั้น พิเคราะห์แล้ว ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่านางสาววิชชุดาเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ของกลางจากธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าเซื้อ นางสาววิชชุดาย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ หากมีกรณีต้องส่งคืน เมื่อมีผู้ลักรถที่เช่าซื้อไป นางสาววิชชุดาย่อมได้รับความเสียหาย นางสาววิชชุดาจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้นางสาววิชชุดาไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่านางสาววิชชุดาร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ไม่ว่าหนังสือมอบอำนาจจะระบุให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 แต่พนักงานสอบสวนรับแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 18 กันยายน 2559 ก็ไม่มีผลลบล้างการที่นางสาววิชชุดาร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย

จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อต่อมาว่า โจทก์ไม่นำสายลับมาเบิกความทำให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดี เพราะไม่มีโอกาสถามค้านเพื่อพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของจำเลยที่ 1 ได้นั้น พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 เคยยกปัญหาเรื่องสายลับไม่ได้มาเบิกความขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้หยิบยกข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขึ้นวินิจฉัย จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ได้วินิจฉัยนั้น ไม่ชอบอย่างไร โดยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพราะเหตุใด ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 7 ควรวินิจฉัยอย่างไร และด้วยเหตุผลใด แต่จำเลยที่ 1 กลับยกข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับที่เคยยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ขึ้นฎีกาซ้ำอีก จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา และถือไม่ได้ว่าเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ทั้งมิได้เป็นข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ตัดสินไว้ จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ได้ ที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกามานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า จากคำให้การของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนไม่ปรากฏข้อความใดที่บ่งบอกว่าจำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ทำการซื้อขายรถยนต์ผิดกฎหมาย จำเลยที่ 1 มาเป็นเพื่อนนายจิรวัฒน์ตามที่จำเลยที่ 2 บอกให้มา และราคาซื้อขายรถยนต์ของกลาง 280,000 บาท เป็นราคาตามท้องตลาด เมื่อขายเสร็จจำเลยที่ 1 ก็จะได้รับค่าตอบแทน ส่วนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีที่มีการทำปลอมขึ้นมาหากมองด้วยตาเปล่าไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นของปลอม จำเลยที่ 1 ในฐานะพ่อค้าย่อมไม่อาจทราบได้ว่าเป็นของปลอม ขอศาลฎีกาได้โปรดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองเป็นยกฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

เมื่อ ว. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากธนาคาร ธ. ผู้ให้เช่าซื้อ ว. ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อมีผู้ลักรถที่เช่าซื้อไป ว. ย่อมได้รับความเสียหาย ว. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้ ว. ไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ไม่ว่าหนังสือมอบอำนาจ จะระบุให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 แต่พนักงานสอบสวนรับแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 18 กันยายน 2559 ก็ไม่มีผลลบล้างการที่ ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย

จำเลยที่ 1 เคยยกปัญหาเรื่องสายลับไม่ได้มาเบิกความขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้หยิบยกข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขึ้นวินิจฉัย จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ได้วินิจฉัยนั้น ไม่ชอบอย่างไร โดยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพราะเหตุใด ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 7 ควรวินิจฉัยอย่างไร และด้วยเหตุผลใด แต่จำเลยที่ 1 กลับยกข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับที่เคยยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ขึ้นฎีกาซ้ำอีก จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา และถือไม่ได้ว่าเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ทั้งมิได้เป็นข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ตัดสินไว้ จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้

มีปัญหาคดีความปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี@lawyers.in.th

Facebook Comments