ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711/2557

พนักงานอัยการจังหวัดพังงา โจทก์

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 393 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 จำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายและจำเลยทำงานที่สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 18 (บางวัน พังงา) ผู้เสียหายเป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ส่วนจำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าสถานี ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายเพื่อทวงถามเอกสารจากผู้เสียหาย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จำเลยโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหาย ด่าว่าและทวงเอกสารจากผู้เสียหาย ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอยู่ที่สถานีบริการขนส่ง (บขส.) ตำบลท้ายช้าง อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา จำเลยอยู่ที่ส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสถานที่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าวดูหมิ่น ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

หมายเหตุท้ายฎีกา

ความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ตาม ป.อ.มาตรา 393 นั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าการดูหมิ่นซึ่งหน้าจะต้องกระทำด้วยการใช้คำพูด จึงอาจเป็นการกระทำด้วยวิธีการอย่างอื่น เช่น ส่งกระดาษที่มีข้อความด่าว่าให้ผู้อื่น ชี้ไปที่สุนัขในลักษณะเปรียบเปรยว่าเขาผู้นั้นเป็นสุนัข เพียงแต่การกระทำดูหมิ่นนั้นจะต้องเป็นการกระทำซึ่งหน้าผู้อื่นที่ผู้กระทำนั้นเจตนาต้องการดูหมิ่นเขา…….ถ้ามิได้กระทำซึ่งหน้าผู้เสียหาย จึงขาดองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ซึ่งเป็นไปตามหลักการตีความกฎหมายอาญาที่ว่า “กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด”

สรุป

‪ถ้าเป็นการดูหมิ่นด้วยวาจาผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย‬ แต่การโทรศัพท์มาจากต่างอำเภอแม้จะมีข้อความดูหมิ่นผู้เสียหาย ผู้กระทำก็ไม่มีความผิด

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716

Facebook Comments