มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ของผู้ตาย เช่น ที่ดิน เงินฝากธนาคาร ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินที่มีผู้อื่นยืมไป หนี้ ภาระติดพันต่างๆ ทั้งการจำนองหรือค้ำประกัน เป็นต้น ดังนั้น หลังจากที่ผู้ตาย หรือที่กฎหมายเรียกว่า “เจ้ามรดก” ได้ถึงแก่กรรมแล้วนั้น ถึงแม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมก็ตาม แต่ก็อาจมีปัญหาในการแบ่งมรดก ไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินได้ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หรือลูกหนี้ของเจ้ามรดกไม่ยอมชำระหนี้ กฎหมายจึงให้ตั้งผู้ที่จะมาจัดการมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเรียกว่า “ผู้จัดการมรดก” และถึงแม้เจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมโดยจะตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมไว้หรือไม่นั้น ทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมก็มีความจำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดกเช่นกัน
ทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก มี 6 ลำดับ ดังนี้
ผู้สืบสันดาน คือ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม
บิดามารดา ในกรณีของบิดา เฉพาะบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก
พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน
ปู่ ย่า ตา ยาย
ลุง ป้า น้า อา
นอกจากทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับดังกล่าวแล้ว คู่สมรสซึ่งจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ถือเป็นทายาทโดยธรรมเช่นกัน โดยกรณีคู่สมรส จะมีการแบ่งที่แตกต่างกับทายาทโดยธรรมประเภทญาติเพราะมีสิทธิได้รับมรดก 2 ส่วนคือ ครึ่งหนึ่งของสินสมรส และสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ตามกฎหมายลักษณะมรดก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การรับมรดกของทายาทโดยธรรมนั้นทั้ง 6 ลำดับนั้น ไม่ได้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันหมดทุกคน เพราะหากทายาทลำดับ 1 และ 2 รวมถึงคู่สมรส ยังมีชีวิตอยู่ ก็เฉพาะแต่ทายาทลำดับนั้นเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดกทายาทในลำดับ 3 ถึง 6 ไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเลย
ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้วางหลักการแบ่งมรดกของทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับ ดังนี้
ถ้ามีทายาทในชั้นผู้สืบสันดาน คู่สมรสมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเหมือนเป็นทายาทชั้นบุตร กล่าวคือ เมื่อแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่งแล้ว คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกเท่ากับทายาทในชั้นผู้สืบสันดานด้วย
ถ้ามีทายาทในชั้นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือถ้าไม่มีบุตรแต่บิดามารดาของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิ์ได้รับมรดกครึ่งหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่งแล้ว คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกครึ่งหนึ่งของกองมรดก ส่วนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันหรือบิดามารดาของเจ้ามรดก แล้วแต่กรณี มีสิทธิได้รับมรดกเพียงครึ่งหนึ่งของกองมรดกเท่านั้น
ถ้ามีทายาทคือ พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน หรือลุง ป้า น้า อา หรือมีปู่ ย่า ตา ยายแล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิ์ได้มรดก 2 ใน 3 ส่วน ของกองมรดก
ถ้าผู้ตายไม่มีทายาทเลย คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด
นอกจากนี้ ถ้าทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันนั้นมีหลายคน ทายาทเหล่านั้นย่อมได้ส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกคนละเท่าๆ กัน
ผู้จัดการมรดกไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก เป็นใครก็ได้ แต่ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลคือ ทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก หรือผู้ที่ได้รับมรดกตามพินัยกรรม หรืออาจเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เจ้าของร่วมในทรัพย์สินของเจ้ามรดก หรือสามีภริยาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีทรัพย์สินร่วมกัน เป็นต้น
คุณสมบัติของผู้จะเป็นผู้จัดการมรดกนั้น นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วว่าไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทโดยธรรมแล้ว ยังต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือคนที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ และต้องไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้ล้มละลาย
การยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกถือเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลในขณะถึงแก่ความตาย แต่หากเจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตอำนาจศาล ซึ่งศาลที่มีอำนาจในการออกคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ต้องเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและต้องเป็นศาลจังหวัดเท่านั้น กรณีที่ภูมิลำเนาของเจ้ามรดกอยู่ในกรุงเทพมหานคร ผู้ที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งตลิ่งชัน แล้วแต่ว่าเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ของศาลใด หากเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต้องกระทำต่อศาลจังหวัดในท้องที่ที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาก่อนถึงแก่ความตาย
เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ทำการอันจำเป็น เพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป และมีหน้าที่รวบรวมมรดก เพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้ของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีมรดกและรายการแสดงบัญชีการจัดการ โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่กองมรดก นอกจากนี้ ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท เพิกเฉยไม่แบ่งมรดก หรือยักยอกทรัพย์มรดกเป็นของตนเอง ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกก็ได้
สรุป
สาเหตุที่ทำไมถึงต้องมีผู้จัดการมรดก ก็เพื่อมาจัดการทรัพย์สินรวมถึงหนี้สินของผู้ตายนั่นเอง
ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายไผ่ 095-781-9477
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716