Home คดีครอบครัว อายุความในการฟ้องร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร มีอายุความกี่ปี

อายุความในการฟ้องร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร มีอายุความกี่ปี

5402

อายุความในการฟ้องร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร มีอายุความกี่ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2562

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์นับแต่ปี 2548 ถึงปี 2558 เป็นเงินปีละ 60,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 9 ปี เป็นเงิน 540,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูนาย พ. นับแต่ปี 2548 ถึงปี 2552 เป็นเงินปีละ 72,000 บาท รวม 4 ปี เป็นเงิน 288,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูนางสาว ก. นับแต่ปี 2548 ถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 เป็นเงินปีละ 72,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 9 ปี เป็นเงิน 648,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,476,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เป็นเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 มิถุนายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูนางสาว ก. เป็นเงิน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลฎีกาพิพากษา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินเป็นสามีภริยากันเมื่อปี 2525 แต่จดทะเบียนสมรสกันภายหลังเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2535 ขณะจดทะเบียนสมรสจำเลยที่ 1 ชื่อ ” ส. ” แต่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 เปลี่ยนชื่อเป็น ” ณ.” โจทก์และจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นางสาว ธ. นาย พ. และนางสาว ก. ประมาณปี 2548 จำเลยที่ 1 จงใจทิ้งร้างโจทก์โดยย้ายออกจากบ้านที่เคยอยู่อาศัยด้วยกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิง ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ 200,000 บาท ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ 120,000 บาท และชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูนางสาว ก. 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสามจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ในส่วนนี้ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูในส่วนของนาย พ. ขาดอายุความหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี…(4) เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะ (5)…” จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาไว้แน่นอน เช่นนี้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จะถือว่าเป็นเงินค้างจ่ายตามบทบัญญัติเช่นว่านั้น จึงมีความหมายทำนองเดียวกัน คือ ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะ (งวด) มีจำนวนแน่นอนและมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/40 วรรคหนึ่ง บัญญัติ ถ้าไม่มีกำหนดระยะเวลาจ่ายเป็นระยะ (งวด) ที่แน่นอน และมีกำหนดเวลาที่แน่นอน ย่อมไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 193/33 (4) คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของนาย พ. ซึ่งจำต้องอุปการะเลี้ยงดูนาย พ. ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตามมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง แต่ตามบทกฎหมายดังกล่าวก็มิได้กำหนดระยะเวลาการจ่ายไว้ และไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกำหนดระยะเวลาชำระไว้ตามที่กำหนดในมาตรา 1598/40 วรรคหนึ่ง ดังนั้นค่าอุปการะเลี้ยงดูนาย พ. ขณะที่เป็นผู้เยาว์ที่โจทก์เรียกร้องในคดีนี้ โดยอาศัยบทบัญญัติ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 193/33 (4) อันจะอยู่ในอายุความ 5 ปี ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูในส่วนของนาย พ. ขณะเป็นผู้เยาว์ขาดอายุความนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ประการแรกฟังขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูในส่วนของนาย พ. เพียงใด ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ย้อนสำนวน ทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีอาชีพรับจ้างทั่วไปขณะอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์ เพิ่งจะมาเป็นพนักงานจ้างทั่วไป ตำแหน่งคนงานทั่วไป สังกัดสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลวังน้ำเย็นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 จนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2551 รวมระยะเวลาปฏิบัติงาน 7 เดือน 11 วัน อัตราเงินเดือน 6,400 บาท บ่งชี้ว่าระหว่างที่นาย พ. เป็นผู้เยาว์นั้นจำเลยที่ 1 มีรายได้ไม่มากนักและปัจจุบันจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏว่ามีรายได้มากมายทั้งได้ความว่ามีบุตร 1 คน กับจำเลยที่ 2 ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังต้องอาศัยรายได้ของจำเลยที่ 2 ยิ่งกว่านั้นจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษารวมเป็นเงิน 320,000 บาท กับต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูในส่วนของนางสาว ก. ตามคำพิพากษาเป็นเงินอีก 180,000 บาท ประกอบกับปัจจุบันนาย พ. อายุ 19 ปีเศษ ประกอบอาชีพแล้ว อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 เห็นสมควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูในส่วนของนาย พ. ให้ 40,000 บาท ฎีกาของโจทก์ประการนี้ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เรียกค่าขึ้นศาลในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูของนาย พ. เป็นเงินค่าขึ้นศาล 5,760 บาท ชอบหรือไม่ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูของนาย พ. ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงวันที่ 13 กันยายน 2560 จึงเป็นการไม่ชอบ เห็นควรคืนเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนนี้ให้แก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายฟังขึ้น

อนึ่ง ที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว โดยให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 23022 ซึ่งเป็นมรดกของนาง น. อันจะตกได้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรก่อนศาลฎีกาพิพากษาฉบับลงวันที่ 19 กันยายน 2559 นั้น เห็นว่า ที่ดินตามคำร้องยังมีชื่อนาง น. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นบุตรของนาง น. อันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมก็ตาม แต่ทายาทอาจเสียสิทธิในการรับมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคสอง ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255 บัญญัติว่า ในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตาม มาตรา 254 (1) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า จำเลยตั้งใจจะยักย้ายทรัพย์สินของตนให้พ้นจากอำนาจศาล แต่ตามคำร้องของโจทก์เป็นเพียงการคาดคะเนว่าจำเลยที่ 1 จะทำการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเท่านั้น ทั้งศาลฎีกาได้ทำคำพิพากษาเสร็จแล้ว หากศาลฎีกาจะส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องก่อน ก็จะทำให้คดีนี้ล่าช้า จึงให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูในส่วนของนาย พ. เป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้แก่โจทก์รวม 15,760 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป จำเลยที่ 1 เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งจำต้องอุปการะเลี้ยงดู พ. ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บทกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาการจ่ายไว้ และไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกำหนดระยะเวลาชำระไว้ตามมาตรา 1598/40 วรรคหนึ่ง ดังนั้นค่าอุปการะเลี้ยงดู พ. ขณะที่เป็นผู้เยาว์ที่โจทก์เรียกร้องในคดีนี้ โดยอาศัยบทบัญญัติ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 193/33 (4) อันจะอยู่ในอายุความ 5 ปี

ถ้าตกลงกันไว้ ๕ ปี ถ้าไม่ได้ตกลงไม่มีอายุความ

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments