เดิมศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า การที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แม้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยด้วยความสมัครใจโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ผู้กู้จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วคืน ตามมาตรา 407 และมาตรา 411 อีกทั้งไม่สามารถนำมาหักกับเงินต้นได้ (ฎ.99/2515, 1759/2545)
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันศาลฎีกาตัดสินว่า การที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย เรียกคืนไม่ได้ ตาม ม.411 และถึงแม้ผู้ให้กู้จะไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย แต่กรณีนี้ก็มิใช่การชำระหนี้โดยตามอำเภอใจโดยผู้กู้รู้ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ เพราะยังมีเงินต้นค้างชำระอยู่ จึงต้องนำดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วมาหักกับเงินต้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 5376/2560 ( ประชุมใหญ่ )
จำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ซึ่งตกเป็นโมฆะ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจจะเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงิน
สรุป
การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วได้ แต่ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงิน
ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายไผ่ 095-781-9477
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716