ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1236 อันบริษัทจำกัดย่อมเลิกกันด้วยเหตุดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ถ้าในข้อบังคับของบริษัทมีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น
(2) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น
(3) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น
(4) เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก
(5) เมื่อบริษัทล้มละลาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 6712/2561

การเลิกบริษัทจำกัด ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1236 หรือมาตรา 1237 ซึ่งเป็นกรณีที่มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งให้บริษัทจำกัดเลิกกันตามมาตรา 1236(1)ถึง(5)หรือมีเหตุที่ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดตามมาตรา 1237(1)ถึง(4) ที่โจทก์ขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ได้อาศัยข้ออ้างว่า ในคดีอาญาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ตกลงกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวว่าจะดำเนินการเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และชำระบัญชี ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวหาได้เป็นเหตุที่จะเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติมาตรา 1236 หรือมาตรา 1237 ไม่ การตกลงกันเช่นนั้นเป็นเพียงความประสงค์ของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ที่ไม่ต้องการทำกิจการร่วมกันต่อไป แต่การตกลงกันจะเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ จะต้องดำเนินการตามมาตรา 1236(4) โดยอาศัยมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ซึ่งต้องมีการนัดเรียกประชุมและลงมติตามกฎหมาย มิใช่อ้างแต่เพียงข้อตกลงที่จะเลิกบริษัทโดยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนปัญหาที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 มีความขัดแย้งกันจนดำเนินคดีอาญาและเป็นปฏิปักษ์กันนั้น แม้ทำให้เกิดข้อขัดข้องในการจัดการงานของจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ทำการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการโดยให้จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป อีกทั้งความขัดแย้งในการบริหารงานของบริษัทก็หาใช่เหตุที่ศาลสั่งเลิกบริษัทตามมาตรา 1237 ได้ไม่

สรุป

การดำเนินกิจการของบริษัทจำกัด กรรมการบริษัทเกิดความขัดแย้งกันจนมีการฟ้องร้องเป็นคดีอาญา และมีการตกลงกันในคดีอาญาว่าจะดำเนินการชำระบัญชีและเลิกบริษัท หลังจากนั้นไม่มีการดำเนินการเพื่อเลิกบริษัท กรณีดังกล่าวจะฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เลิกบริษัทและตั้งผู้ชำระบัญชีไม่ได้ การตกลงกันจะเลิกบริษัทได้จะต้องดำเนินการตามมาตรา 1236(4) โดยอาศัยมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ซึ่งต้องมีการนัดเรียกประชุมและลงมติตามกฎหมาย มิใช่อ้างแต่เพียงข้อตกลงที่จะเลิกบริษัทโดยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายไผ่ 095-781-9477
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716

Facebook Comments