การปลอมเอกสารตามความหมายของคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14505/2557
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 137, 264, 267, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 267 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 2 ปีรวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์มีชื่อและชื่อสกุลว่านางสาวใจทิพย์ ต่อมาปี 2514 โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ตามสำเนาทะเบียนการสมรส หลังจากนั้นวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 โจทก์จดทะเบียนหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 ตามสำเนาใบสำคัญการหย่า หลังจากโจทก์จดทะเบียนหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3215 และ 7747 ตำบลท่าฉลอมและตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปี 2532 และปี 2534 ตามโฉนดที่ดิน โดยโจทก์เก็บรักษาโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไว้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2543 จำเลยที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ขอออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 และ 7747 ไปยื่นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับโดยอ้างว่าโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับได้สูญหายไป ตามสำเนาคำขอ และในการนี้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ให้ถ้อยคำยืนยันแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครว่า โฉนดที่ดินทั้งสองฉบับสูญหายไปจริง ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครได้ออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 และ 7747 ตามคำขอโดยให้โจทก์ไปรับใบแทนโฉนดที่ดินด้วยตัวเอง แต่โจทก์ไม่ได้ไปรับ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครจึงยกเลิกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ ตามสำเนาบันทึกข้อความ หลังจากนั้นปี 2545 จำเลยที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ขอออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 และ 7747 ไปยื่นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างว่าโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับได้สูญหายไป ตามสำเนาคำขอ และในการนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ให้ถ้อยคำยืนยันแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครว่า โฉนดที่ดินทั้งสองฉบับสูญหายไปจริง ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำ เจ้าพนักงานที่ดินที่ดินทั้งสองฉบับไป ตามสำเนาบันทึกข้อความ ต่อมาเดือนมิถุนายน จังหวัดสมุทรสาครได้ออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับตามคำขอโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบแทนโฉนด 2546 จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3215 และ 7747 ไปยื่นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครเพื่อทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยจำเลยที่ 4 ได้ให้ถ้อยคำยืนยันแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อของโจทก์และโจทก์มีความประสงค์ที่จะขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 จริง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่ผู้อื่นไปอีกทอดหนึ่ง ตามสำเนาโฉนดที่ดิน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ฐานใด ฝ่ายโจทก์มีโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความได้ความว่า หลังจากโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3215 และ 7747 เมื่อปี 2532 และปี 2534 ตามโฉนดที่ดิน แล้ว โจทก์ได้นำต้นฉบับโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไปเก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางกะปิ ตามสำเนาสัญญาใช้ตู้นิรภัย ต่อมาปี 2546 มีบุคคลมาติดต่อขอซื้อที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว โจทก์จึงไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครเพื่อขอทราบราคาประเมิน แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครแจ้งว่าที่ดินทั้งสองแปลงไม่ใช่ของโจทก์แล้ว โจทก์จึงขอตรวจสอบเอกสารและพบว่ามีการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับโดยใช้หนังสือมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เป็นหลักฐานในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินเมื่อปี 2543 และปี 2545 และใช้หนังสือมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เป็นหลักฐานในการโอนขายที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์เมื่อปี 2546 ในส่วนของหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ นั้น ระบุว่าจำเลยที่ 2 ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ไปขอออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับโดยอ้างว่าโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับได้สูญหายไป โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้ถ้อยคำยืนยันแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับได้สูญหายไปจริงอันเป็นความเท็จ เพราะโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินไว้เองตลอดมา สำหรับหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ขายที่ดินทั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 4 ให้ถ้อยคำยืนยันแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อของโจทก์และโจทก์มีความประสงค์ที่จะขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 จริง อันเป็นความเท็จ เพราะโจทก์ไม่เคยมีความประสงค์เช่นนั้น โจทก์ตรวจสอบลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจแล้ว พบว่าลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์และโจทก์ไม่เคยทำหนังสือมอบอำนาจทั้งสามฉบับ หนังสือมอบอำนาจทั้งสามฉบับดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า เมื่อปี 2543 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เมื่อปี 2545 จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ และเมื่อปี 2546 จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ โจทก์จึงมีภาระหน้าที่ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้ฟังได้ตามฟ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโจทก์เบิกความยืนยันว่า ลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์แต่มีการปลอมลายมือชื่อ โจทก์จึงต้องพิสูจน์โดยแยกแยะให้เห็นกระจ่างว่า ลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์มีลักษณะหรือลีลาการเขียนอย่างไรและมีข้อแตกต่างจากลายมือชื่อที่โจทก์อ้างว่ามีการปลอมขึ้นอย่างไร แต่โจทก์ไม่นำสืบเช่นนั้น ทั้งหากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ด้วยตัวเองได้ โจทก์ควรส่งตัวอย่างลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์และลายมือชื่อที่โจทก์อ้างว่าเป็นลายมือชื่อปลอมไปให้เจ้าพนักงานที่มีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อเป็นผู้ตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบและลงความเห็น แต่โจทก์ก็ไม่กระทำ ดังนี้ข้อที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ จึงเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ในทางกลับกัน ฝ่ายจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้นำสืบต่อสู้ทำนองเดียวกันว่า ลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ โดยโจทก์เคยลงลายมือชื่อไว้หลายแบบตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน และสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งเมื่อพิจารณาลายมือชื่อของโจทก์ตามเอกสารที่ฝ่ายจำเลยนำสืบเปรียบเทียบกับลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจแล้ว จะเห็นได้ว่ามีลักษณะที่คล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เปลี่ยนชื่อและชื่อสกุลหลายครั้งและเคยเปลี่ยนลายมือชื่อหลายแบบเพื่อให้ตรงกับชื่อและชื่อสกุลที่เปลี่ยนไป สอดคล้องกับสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ที่ปรากฏลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจถึง 4 แบบ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ว่าจะมีการปลอมลายมือชื่อที่ยุ่งยากและซับซ้อนถึงเพียงนั้น เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจ คดีจึงฟังว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารดังฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์จะฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการกรอกข้อความปลอมลงในหนังสือมอบอำนาจ คดีก็ย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้เพราะเป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารเช่นเดียวกันนั้น เห็นว่า การปลอมลายมือชื่อของผู้อื่นลงในเอกสารเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก ส่วนการกรอกข้อความลงในเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้นั้นเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง ซึ่งองค์ประกอบของการกระทำในมาตรา 264 วรรคแรกและวรรคสองแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ เป็นการปลอมลายมือชื่อหรือเป็นการปลอมข้อความ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธซึ่งเท่ากับต่อสู้ว่าไม่ได้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์แต่หากทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันนำเอกสารที่มีลายมือชื่อโจทก์และมีข้อความซึ่งข้อความนั้นไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไปใช้อ้างแสดงโดยไม่ได้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต่อสู้คดีไปโดยผิดหลง ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง และเมื่อวินิจฉัยได้ว่า ลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ มิใช่ลายมือชื่อปลอม ดังนั้น แม้หากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะนำหนังสือมอบอำนาจทั้งสามฉบับดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจไปใช้อ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดินก็ดี หรือเพื่อโอนขายที่ดินก็ดี ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอม
พิพากษายืน
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th.