Home คดีอาญา คำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ เทคนิคการสู้คดีฉ้อโกงให้ยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ เทคนิคการสู้คดีฉ้อโกงให้ยกฟ้อง

9056

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5830/2562

พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง กับมีคำขอให้คืนหรือใช้เงิน ที่ผู้เสียหายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่ผู้เสียหาย อันเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนในคดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระยะเวลาที่คดีอาญาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟ้องโจทก์ในส่วนเงินที่ส่งมอบอันเป็นต้นเงินจึงเป็นฟ้องซ้อน แต่ในส่วนดอกเบี้ย พนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ชดใช้ในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้อนซ้อน

เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ และเงินที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถูกส่งเป็นทอด ๆ ไปให้จำเลยที่ 4 โดยมิได้อยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่โจทก์จะใช้สิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2562

การที่ อ. รับฟังจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนของ อ. แนะนำว่าจำเลยที่ 2 สามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไร เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมิได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลาย เมื่อ อ. ไปพบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านเพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองเข้ารับราชการตำรวจ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 โจทก์ทั้งสองทราบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

ส่วนคำขอในส่วนแพ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามมาตรา 46 เมื่อคำพิพากษาส่วนอาญาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองจริง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ เท่ากับรับว่าร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสอง คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง เงินที่โจทก์ทั้งสองจ่ายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไป จึงไม่มีลักษณะเป็นสินบนเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานอื่นกระทำการใดๆ เพื่อช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบ แต่มีลักษณะเป็นสินน้ำใจที่สมนาคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ช่วยเหลือทำให้โจทก์ทั้งสองสามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีในส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินที่ร่วมกันฉ้อโกงไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5069/2562

สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 โดยชักชวนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจสเต็มเซลล์แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ประเด็นข้อกล่าวหาของแต่ละคดีจึงต่างกันและเป็นการกระทำต่างกรรมกัน แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาฉ้อโกงเหมือนกันก็ตาม แต่เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละมูลเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องคดีก่อน

ในการขายสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีนั้น จำเลยที่ 1 จะบริการฉีดสารดังกล่าวให้ภายหลังการขาย โดยจะติดตามไปฉีดให้แก่ลูกค้าที่สถานที่ที่ลูกค้าสะดวกในลักษณะเป็นการบริการหลังการขาย อันถือเป็นส่วนหนึ่งของการขาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขายสารดังกล่าว ย่อมต้องทราบทางปฏิบัติว่าจะต้องมีบริการฉีดสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายลูกค้าด้วยเสมอ พฤติการณ์ที่มีเพียงจำเลยที่ 1 เป็นผู้ฉีดนั้นจึงถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันในการฉีดสารดังกล่าวให้แก่ลูกค้า เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีเจตนาร่วมกันจึงต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงมีความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 การที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงผู้เสียหายว่าสารที่ตนนำมาขายให้แก่ผู้เสียหายคือสเต็มเซลล์ที่แท้จริง ก็เพื่อประสงค์จะขายสารดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายเป็นสำคัญ การหลอกลวงกับการขายจึงเกลื่อนกลืนกันไปเป็นเจตนาเดียว ความผิดฐานฉ้อโกง พยายามฉ้อโกง ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การหลอกขายสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้เสียหายนั้น มีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผู้เสียหายแต่ละรายแตกต่างกันไป ทั้งยังต่างวัน เวลา และสถานที่ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น กฎหมายมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ในทุก ๆ ครั้งที่ประชาชนได้รับบริการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ฉีดยาให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เสร็จสิ้นในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่างวันเวลา จึงเป็นความผิดที่แยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนครั้งที่ฉีด แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมาเพียงกรรมเดียวและโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ จึงไม่อาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสามได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4824/2562

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของตน โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยตรงตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

กรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 แล้ว แต่โจทก์ที่ 4 หลบหนีและยังไม่ได้ตัวมา ซึ่งคดีจะขาดอายุความ อันทำให้คำสั่งอายัดทรัพย์สินนั้นสิ้นผลลง จำเลยที่ 1 จึงแจ้งจำเลยที่ 2 ดำเนินการกับทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 ให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงเกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า ตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หาใช่เป็นการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ดังที่โจทก์ทั้งสี่อ้าง

จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือความเห็นแย้งจากพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 ว่าคดียังไม่มีเหตุผลที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน วันที่ 18 เมษายน 2557 คณะกรรมการธุรกรรมประชุมและมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินวินิจฉัยชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคสาม วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 คณะอนุกรรมการวินิจฉัยที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและมีมติควรเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด และส่งเรื่องกลับไปให้เลขาธิการฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 มีการประชุมคณะกรรมการแต่ไม่มีการเสนอความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วนลาออกทำให้มีจำนวนไม่ครบ 9 คน วันที่ 6 มีนาคม 2558 มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบ 9 คน วันที่ 25 มีนาคม 2558 เลขาธิการฯ เสนอเรื่องความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา วันที่ 30 มีนาคม 2558 คณะกรรมการได้พิจารณาความเห็นแย้งดังกล่าว โดยมีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินโจทก์ทั้งสี่ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีถือได้ว่าคณะกรรมการได้พิจารณาชี้ขาดความเห็นแย้งของพนักงานอัยการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากเลขาธิการฯ ตามมาตรา 49 วรรคสาม แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3629/2562

ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา” ซึ่งหมายความว่า การอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูล ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา มิใช่โจทก์สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ทุกคดีเสมอไป

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม) มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่เป็นเรื่องทางแพ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีของโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องแล้ว ขอให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป จึงถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้มีการรับรองหรือขออนุญาตให้ฎีกามาด้วย ก็ไม่อาจดำเนินการให้ได้ เพราะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3390/2562

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสบคบกันหลอกลวงโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเสนอขายฝากโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาขายฝากในราคา 1,500,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองกลับทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคาเพียง 500,000 บาท แล้วหลอกลวงโจทก์ว่าทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคา 1,500,000 บาท โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท โจทก์ร้องทุกข์ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกง โจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา ต่อมาคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองและพิพากษายกฟ้อง เท่ากับว่าได้มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง และในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งซึ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงเท่ากับยกฟ้องคดีในส่วนแพ่งไปแล้วด้วย ข้อเท็จจริงในคดีอาญานั้นจึงผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างถึงคดีอาญาดังกล่าวไว้ชัดเจน และขอติดตามเอาทรัพย์คืน 1,000,000 บาท ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงิน 1,000,000 บาท ไปจากโจทก์หรือไม่ จึงเป็นประเด็นเดียวกับคดีอาญาดังกล่าว ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม แต่กรณีที่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามโดยอ้างว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนนั้น จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (3) (ก) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (3) (ก) แล้ว จำเลยร่วมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าจำเลยร่วมได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ฟ้องแย้งโจทก์และจำเลยร่วมมาในฉบับเดียวกัน จึงต้องแยกพิจารณาว่าคำร้องดังกล่าวโต้แย้งสิทธิของโจทก์เดิมหรือจำเลยร่วม เมื่อคำร้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีคำขอให้บังคับจำเลยร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงถือคำขอบังคับของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้เป็นคำฟ้องเริ่มต้นคดีที่บังคับเอาแก่จำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนซึ่งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) และ 58 แล้ว มิใช่คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ขอบังคับแก่โจทก์เดิมที่จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมตามมาตรา 177 วรรคสาม

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments