Home คดีครอบครัว อะไรที่ศาลใช้พิจารณาการห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงกรณีมีความผิดหลายบท

อะไรที่ศาลใช้พิจารณาการห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงกรณีมีความผิดหลายบท

3632

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6794/2561

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 326, 328, 391 (ที่ถูก 393) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยดูหมิ่นซึ่งหน้าด้วยการพิมพ์ข้อความ “สรุป…ทริป “พาไปขำ” …นะคะ…” …ลงในโปรแกรมไลน์ อันเป็นการใส่ความโจทก์ซึ่งหน้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องอับอาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ถูกเหยียดหยาม …การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์ต่อสมาชิกในกลุ่มซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่เห็นข้อความของจำเลยก็ย่อมจะเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี เป็นคนชั่ว… ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 391 (ที่ถูก 393) เห็นว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อันเป็นการกระทำโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้ามก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เห็นได้ว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้ามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะวินิจฉัยไปเสียทีเดียวในประเด็นความผิดที่โจทก์ฎีกาว่า คดีโจทก์มีมูลในความผิดฐานหมิ่นประมาท และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 หรือไม่ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก่อน เมื่อโจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โดยมิได้ยืนยันว่าข้อความตามคำฟ้องมีข้อความใดบ้างที่เป็นเท็จ และที่ถูกต้องตามความจริงแล้วเป็นเช่นไร เมื่อพิจารณาข้อความตามคำฟ้องแล้วมีลักษณะเชิงเปรียบเทียบ และข้อความบางตอนกล่าวในทำนองเสียดสี ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ หรือเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่อคดีฟังได้เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์มีมูลในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) หรือไม่ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เดิม แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา…” ซึ่งมาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ ใช้กับกรณีกระทำการโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเตอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเป็นเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน แต่ไม่ใช้กับกรณีนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาระบุไว้ว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ อีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ

พิพากษายืน

สรุป

ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อันเป็นการกระทำโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้ามก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 326, 393 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เห็นได้ว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้ามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เดิม แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ใช้กับกรณีกระทำการโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเทอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนแต่ไม่ใช้กับกรณีนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมีบทบัญญัติตาม ป.อ. ระบุไว้ว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

มีปํญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments