Home คดีครอบครัว วิธีการใดที่ศาลใช้ในคดีละเมิดอำนาจศาล ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

วิธีการใดที่ศาลใช้ในคดีละเมิดอำนาจศาล ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

4710

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5494/2562

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นเรียกคู่ความไกล่เกลี่ยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.841/2560 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 โดยแจ้งให้ทนายความฝ่ายโจทก์และทนายความฝ่ายจำเลยออกไปจากห้องพิจารณา คงให้อยู่เฉพาะตัวความทั้งสองฝ่าย แต่คดีไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาในวันเดียวกันผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา โดยให้เปลี่ยนผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน อ้างว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่สุจริตและไม่ยุติธรรม ทำให้จำเลยเสียเปรียบ

ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว ผู้ถูกกล่าวหายืนยันรับว่ายื่นคำร้องลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 มีข้อความดังกล่าวข้างต้นจริง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ให้จำคุก 2 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน

ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับผู้ถูกกล่าวหา 500 บาท อีกสถานหนึ่งโดยไม่ลดโทษ รวมโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 1 เดือน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังยุติได้ว่า ในการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.841/2560 ของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 เวลา 10 นาฬิกา ก่อนเริ่มพิจารณาคดีนางสาววันวิสาข์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้ทำการไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งสองฝ่าย เนื่องจากคู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นญาติกัน ระหว่างการไกล่เกลี่ยช่วงหนึ่งได้เชิญทนายความของทั้งสองฝ่ายออกจากห้องพิจารณาเพื่อเจรจาเฉพาะตัวคู่ความ แต่ตกลงกันไม่ได้ หลังจากนั้นผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นทนายความจำเลยกล่าวต่อผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนว่า ศาลไม่ให้ความเป็นธรรมและพิจารณาคดีไม่สุจริต และยื่นคำร้องลงวันที่ 2 (ที่ถูกเป็นวันที่ 3) พฤษภาคม 2561 เมื่อเวลา 12 นาฬิกา คัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนว่าพิจารณาคดีโดยไม่สุจริตและไม่เป็นธรรม ทำให้จำเลยเสียเปรียบ และขอเปลี่ยนผู้พิพากษา นายพิเชษฐ เจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมชำนาญงาน ได้ทำบันทึกเสนอผู้พิพากษาหัวหน้าศาลว่า คำร้องของผู้ถูกกล่าวหามีข้อความไม่เหมาะสม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีคำสั่งตั้งสำนวนละเมิดอำนาจศาล ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นมิได้ไต่สวนพยานตัวผู้ถูกกล่าวหาและไม่จัดให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ถามค้านพยานของผู้กล่าวหา พยานหลักฐานที่ได้มาจะรับฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นกฎหมายพิเศษ ที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงในกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีผู้กระทำการละเมิดอำนาจศาล การดำเนินการดังกล่าวมิใช่การดำเนินคดีอาญาทั่วไป และกรณีมิใช่การสืบพยานปกติ แต่เป็นเพียงการไต่สวนด้วยการสอบข้อเท็จจริง และการจะสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้รู้เห็นเหตุการณ์หรือผู้เกี่ยวข้องคนใด จำนวนมากน้อยเพียงใด เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความชัดเจนพอจะวินิจฉัยได้ก็สามารถยุติการสอบถามและมีคำสั่งได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมิได้นำผู้กล่าวหามาสอบถาม แต่ได้สอบถามนายพิเชษฐเจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องและทำบันทึก กับได้สอบถามจำเลย ทนายโจทก์ทั้งหก และได้สอบถามผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้โอกาสได้แก้ตัวแล้ว จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบ ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสอบถามดังกล่าวย่อมรับฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาข้อต่อไปว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ โดยผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้เรียงคำร้องตามความจริงและเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331 เห็นว่า ในวันเวลาเกิดเหตุช่วงเช้าเป็นเพียงการไกล่เกลี่ยเพื่อให้คู่ความซึ่งเป็นญาติกันได้มีโอกาสตกลงกันเพื่อยุติข้อพิพาท การเจรจาในการไกล่เกลี่ยเป็นเพียงแนวทางข้อเสนอให้คู่ความพิจารณาตัดสินใจ และการประนีประนอมยอมความก็เป็นเรื่องการระงับข้อพิพาทด้วยการต่างยอมผ่อนผันแก่กัน มิใช่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้แต่เพียงฝ่ายเดียว หรือแม้แต่ทั้งสองฝ่ายจะต้องได้เท่าเทียมกัน โดยตัวคู่ความมีอิสระในการตัดสินใจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายตนเองแลกกับการยุติข้อพิพาท หากคู่ความเห็นด้วยก็ตกลงกัน หากคู่ความไม่เห็นด้วยก็ไม่ตกลงกัน และคดีต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานและมีคำพิพากษาต่อไป ไม่มีการบังคับให้ต้องยอมรับตามข้อเสนอการไกล่เกลี่ย ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า แม้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้ให้โอกาสคู่ความเจรจากันและทำการไกล่เกลี่ยด้วยตนเอง คู่ความก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ต้องกลับไปดำเนินการสืบพยานต่อไป ดังนั้น ที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องภายหลังเสร็จการไกล่เกลี่ยว่า ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนพิจารณาคดีไม่สุจริตและยุติธรรมทำให้จำเลยเสียเปรียบ ขอให้เปลี่ยนผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน โดยคำร้องของผู้ถูกกล่าวหามีแต่คำกล่าวหา ไม่มีข้อเท็จจริงที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหา ทั้งไม่เข้าเงื่อนไขที่จะคัดค้านผู้พิพากษาตามกฎหมาย และที่กล่าวหาว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่สุจริตทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในคดีแต่ประการใด จึงเป็นการกล่าวหาผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนว่าไม่สุจริตโดยอาศัยความเข้าใจและความรู้สึกของผู้ถูกกล่าวหาเองโดยไม่มีมูลข้อเท็จจริง การกล่าวหาผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนว่าไม่สุจริตอย่างเลื่อนลอยปราศจากพยานหลักฐาน เป็นเรื่องร้ายแรงส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของศาล ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความย่อมทราบดี การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) มิใช่การใช้สิทธิโดยสุจริต คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงในกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีผู้กระทำการละเมิดอำนาจศาล การดำเนินการดังกล่าวมิใช่การดำเนินคดีอาญาทั่วไป และกรณีมิใช่การสืบพยานปกติ แต่เป็นเพียงการไต่สวนด้วยการสอบข้อเท็จจริง และการจะสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้รู้เห็นเหตุการณ์หรือผู้เกี่ยวข้องคนใด จำนวนมากน้อยเพียงใด เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความชัดเจนพอจะวินิจฉัยได้ก็สามารถยุติการสอบถามและมีคำสั่งได้ การที่ศาลชั้นต้นมิได้นำผู้กล่าวหามาสอบถาม แต่ได้สอบถาม พ. เจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องของผู้ถูกกล่าวหา และทำบันทึกเสนอผู้พิพากษาหัวหน้าศาล กับได้สอบถามจำเลย ทนายโจทก์ทั้งหก และได้สอบถามผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้โอกาสได้แก้ตัวแล้ว จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบ ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสอบถามดังกล่าวย่อมรับฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้

การกล่าวหาผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนว่าไม่สุจริตอย่างเลื่อนลอยปราศจากพยานหลักฐาน เป็นเรื่องร้ายแรงส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของศาล ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความย่อมทราบดี จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) มิใช่การใช้สิทธิโดยสุจริต

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments