Home คดีครอบครัว หมิ่นประมาททางแพ่ง ต้องมีบุคคลที่สามหรือไม่

หมิ่นประมาททางแพ่ง ต้องมีบุคคลที่สามหรือไม่

5102

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6681/2562

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน 1 ฉบับ เป็นระยะเวลา 3 วัน ปิดประกาศโฆษณาภายในบริเวณที่ทำการสำนักงานและที่ทำการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัทสายการบิน ค. เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งกล่าวหาว่าโจทก์ทำละเมิดลักลอบเข้าระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ

ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองเนื่องจากไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ จำเลยทั้งสองและนางสาว พ. เป็นพนักงานของบริษัทสายการบิน ค. โจทก์มีตำแหน่งเป็นพนักงานต้อนรับภาคพื้นดิน นางสาว พ. มีหน้าที่อำนวยการโดยสารของบริษัททั้งขาเข้าขาออก และทำงานร่วมกับโจทก์ จำเลยทั้งสองเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์และนางสาว พ. โดยจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการโดยสารมีหน้าที่ควบคุมดูแล ประสานงานให้สายการบินดำเนินการไปอย่างราบรื่น และลงนามในเอกสารการเงินแทนประธานบริษัท จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายการโดยสาร มีหน้าที่ช่วยควบคุมดูแลและประสานงานให้สายการบินดำเนินการไปอย่างราบรื่น นางสาว พ. เป็นผู้เริ่มต้นจัดโปรแกรมสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค เมสเซนเจอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการส่งข้อความและข้อมูลมัลติมีเดียสนทนาโต้ตอบกันทางระบบอินเทอร์เน็ตเข้าในระบบเพื่อพูดคุยกันในเรื่องทั่วไป มีสมาชิกเพียง 3 คนเป็นบัญชีเฟสบุ๊คประเภทปิด ในการสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊คดังกล่าวไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์กลางของบริษัท บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าดูหรืออ่านข้อความสนทนาได้ หากใช้คอมพิวเตอร์กลางของบริษัทแล้วจะต้องใส่รหัส จึงจะสามารถใช้การสนทนาผ่านคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ วันที่ 7 เมษายน 2558 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ขณะที่โจทก์อยู่ที่ทำงานและใช้คอมพิวเตอร์ของบริษัทพบว่ามีการสนทนากันระหว่างจำเลยทั้งสองและนางสาว พ. ผ่านโปรแกรมเมสเซนเจอร์ที่นางสาว พ. เปิดโปรแกรมดังกล่าวค้างไว้และลืมปิด แล้วโจทก์มาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต่อ ตามคำฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 1 ส่งข้อความสนทนา 5 ครั้ง จำเลยที่ 2 ส่งข้อความสนทนา 2 ครั้ง วันที่ 30 กันยายน 2557 จำเลยที่ 1 ส่งข้อความว่า แหลจริง ๆ วันที่ 6 ธันวาคม 2557 ส่งข้อความว่า ไล่ออกดีไหม วันที่ 26 มกราคม 2558 ส่งข้อความว่า หน้าด้านอย่างเหลือเชื่อที่ซู้ด วันที่ 30 มีนาคม 2558 ส่งข้อความว่า กินฟรี ผู้ชายทุกคนอยากมาจีบหญิง KU เพราะรวยทุกคน แต่ขาดผู้ชาย นอนฟรี และวันเดียวกันนั้นส่งข้อความอีกครั้งว่า เก่งนะ พวกปากกัดตีนถีบ หลอกเอาเงินผู้ชาย ส่วนจำเลยที่ 2 ส่งข้อความวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ว่า 2 คนเนี่ย evaluate ยากจริง ๆ เพราะมันไม่มีอะไรดีเลย และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ส่งข้อความว่า ไม่ใช่เรื่องคนอื่นเราต้องเอาไว้ยันว่าเค้าไม่เคารพซุป

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 บัญญัติว่า “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี …” จะเห็นได้ว่าแม้บทมาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติว่าเป็นการกล่าวหรือไขข่าวต่อบุคคลที่สาม แต่การกล่าวหรือไขข่าวที่แพร่หลายได้ก็ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ การพูดคนเดียวไม่มีคนได้ยินย่อมไม่เป็นการกล่าวให้แพร่หลาย ดังนั้นถ้ามีคนแอบฟังโดยคนพูดไม่รู้ การพูดดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจ กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาว พ. เป็นผู้เริ่มต้นการตั้งโปรแกรมสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค เมสเซนเจอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการส่งข้อความและข้อมูลมัลติมีเดียสนทนาโต้ตอบกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เข้าในระบบเพื่อพูดคุยกัน โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์โต้แย้งว่าโปรแกรมสนทนาดังกล่าวเป็นแบบระบบปิดมีสมาชิกเพียง 3 คน คือจำเลยทั้งสองและนางสาว พ. บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปดูหรืออ่านข้อความสนทนาได้ การสนทนาดังกล่าวที่มีการพูดถึงโจทก์และพนักงานอื่นรวมอยู่ด้วยจึงเป็นการกล่าวที่จำเลยทั้งสองและนางสาว พ. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันสนทนาร่วมกันโดยนางสาว พ. ก็เบิกความรับว่าเข้าร่วมสนทนากับจำเลยทั้งสองหลายครั้ง จึงมิใช่เป็นการที่จำเลยทั้งสองกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ส่วนการที่โจทก์แอบดูและอ่านข้อความสนทนาและนำไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับทราบเองย่อมไม่ทำให้การสนทนาระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสามเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายให้บุคคลอื่นรับทราบได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป แม้ ป.พ.พ. มาตรา 423 ไม่ได้บัญญัติว่าเป็นการกล่าวหรือไขข่าวต่อบุคคลที่สาม แต่การกล่าวหรือไขข่าวที่แพร่หลายได้ก็ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ การพูดคนเดียวไม่มีคนได้ยินย่อมไม่เป็นการกล่าวให้แพร่หลาย ดังนั้นถ้ามีคนแอบฟังโดยคนพูดไม่รู้ การพูดดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ. เป็นผู้เริ่มต้นการตั้งโปรแกรมสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค เมสเซนเจอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการส่งข้อความและข้อมูลมัลติมีเดียสนทนาโต้ตอบกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เข้าในระบบเพื่อพูดคุยกัน โปรแกรมสนทนาดังกล่าวเป็นแบบระบบปิดมีสมาชิกเพียง 3 คนคือจำเลยทั้งสองและ พ. บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปดูหรืออ่านข้อความสนทนาได้ การสนทนาดังกล่าวที่มีการพูดถึงโจทก์และพนักงานอื่นรวมอยู่ด้วยจึงเป็นการกล่าวที่จำเลยทั้งสองและ พ. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันสนทนาร่วมกันโดย พ. เข้าร่วมสนทนากับจำเลยทั้งสองหลายครั้ง จึงมิใช่เป็นการที่จำเลยทั้งสองกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ส่วนการที่โจทก์แอบดูและอ่านข้อความสนทนาและนำไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับทราบเอง ย่อมไม่ทำให้การสนทนาระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสามเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายให้บุคคลอื่นรับทราบได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments