Home คดีอาญา นำสำเนาทะเบียนรถปลอม ไปหลอกจำนำรถโดยผิดกฎหมาย ผู้รับจำนำถือเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิแจ้งความดำเนิคดีหรือไม่

นำสำเนาทะเบียนรถปลอม ไปหลอกจำนำรถโดยผิดกฎหมาย ผู้รับจำนำถือเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิแจ้งความดำเนิคดีหรือไม่

3279

นำทะเบียนรถปลอม ไปหลอกจำนำรถโดยผิดกฎหมาย ผู้รับจำนำถือเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิแจ้งความดำเนิคดีหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 341, 33, 83, 91 และริบสมุดใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 ช-4888 กรุงเทพมหานคร ของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 250,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 341, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 83 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ริบสมุดใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 ช-4888 กรุงเทพมหานคร ของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 250,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า นางสาววีรวรรณ อิ่มประเสริฐสุข ผู้ร้องทุกข์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลจะวินิจฉัยข้อกฎหมายได้จำต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมแสดงต่อผู้เสียหายและหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่านายภาณุวัฒน์เป็นเจ้าของรถยนต์ตามสมุดใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์จริง จนผู้เสียหายยอมรับจำนำและจ่ายเงินให้จำเลยไป ลักษณะการกระทำตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้เอกสารราชการปลอมเพื่อฉ้อโกงนางสาววีรวรรณ และนางสาววีรวรรณได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหาย แม้มีการทำสัญญาจำนำก็เป็นผลสืบเนื่องจากการหลอกลวงของจำเลยเพื่อให้ผู้เสียหายส่งมอบเงินอันเป็นทรัพย์สินให้ ดังนั้น สัญญาจำนำจะมีผลสมบูรณ์หรือไม่ หาเป็นเหตุให้นางสาววีรวรรณซึ่งเป็นผู้เสียหายอยู่แล้วกลายเป็นมิใช่ผู้เสียหายไม่ ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยกับพวกร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมแสดงต่อผู้เสียหายและหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่า ภ. เป็นเจ้าของรถยนต์ตามสมุดใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์จริง จนผู้เสียหายยอมรับจำนำและจ่ายเงินให้จำเลยไป ลักษณะการกระทำตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้เอกสารราชการปลอมเพื่อฉ้อโกง ว. และ ว. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหาย แม้มีการทำสัญญาจำนำก็เป็นผลสืบเนื่องจากการหลอกลวงของจำเลยเพื่อให้ผู้เสียหายส่งมอบเงินอันเป็นทรัพย์สินให้ ดังนั้น สัญญาจำนำจะมีผลสมบูรณ์หรือไม่ หาเป็นเหตุให้ ว. ซึ่งเป็นผู้เสียหายอยู่แล้วกลายเป็นมิใช่ผู้เสียหายไม่ ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments