Home คดีครอบครัว จุดอุทธรณ์/ฎีกาสู้คดี ในการยึดทรัพย์ในคดียาเสพติดตามพ.ร.บมาตราการฯ

จุดอุทธรณ์/ฎีกาสู้คดี ในการยึดทรัพย์ในคดียาเสพติดตามพ.ร.บมาตราการฯ

2215

จุดอุทธรณ์/ฎีกาสู้คดี ในการยึดทรัพย์ในคดียาเสพติดตามพ.ร.บมาตราการฯ

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนางปารีดะกับพวก 8 รายการ รวมราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 2,101,517.51 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51

ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง และคืนทรัพย์สินที่ยึดแก่ผู้คัดค้าน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 8 รายการ คือ ทรัพย์รายการที่ 1 ธนบัตรไทย 99,000 บาท ทรัพย์รายการที่ 2 ธนบัตรมาเลเซีย 36,170 ริงกิต ทรัพย์รายการที่ 3 ธนบัตรไทย 343,790 บาท ทรัพย์รายการที่ 4 ธนบัตรมาเลเซีย 100,450 ริงกิต ทรัพย์รายการที่ 5 เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค สีขาว หมายเลขทะเบียน ญศ 7829 กรุงเทพมหานคร จำนวน 300,000 บาท ทรัพย์รายการที่ 6 เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นสกูปี้ไอ สีขาวน้ำตาล หมายเลขทะเบียน ขจท นราธิวาส 576 จำนวน 12,900 บาท ทรัพย์รายการที่ 7 เงินที่ได้จากการขายทอดตลาด รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นแอร์เบลด สีเทา หมายเลขทะเบียน ขขน นราธิวาส 439 จำนวน 5,600 บาท และทรัพย์รายการที่ 8 เงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาสุไหงปาดี เลขที่บัญชี 01155277xxxx ชื่อบัญชีนางสาวเอลา จำนวน 52,101.41 บาท (ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2557) พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดมีขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนทรัพย์รายการที่ 5 คือ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์ จำนวน 300,000 บาท และรายการที่ 6 คือ เงินได้จากการขายทอดตลาดรถจักรยานยนต์ จำนวน 12,900 บาท แก่ผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ในเบื้องต้นคดีรับฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านและนายเอริส เป็นบุตรของนายมะหะมะกับนางรอฟิอะห์ ต่อมานางรอฟิอะห์สมรสใหม่กับนายมัดยาสซิน ส่วนผู้คัดค้านสมรสกับนายอัสรอแล้วแยกไปอยู่ต่างหาก นายเอริสสมรสแล้วและแยกออกไปอยู่ต่างหากเช่นกัน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักของนางรอฟิอะห์ เลขที่ 251/7 เนื่องจากรับแจ้งมาว่า นางรอฟิอะห์และนายมัดยาสซินมีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และจับกุมนายเอริสขณะมาพักอาศัยชั่วคราวที่บ้านของนางรอฟิอะห์ พร้อมทั้งจับกุมนายมูฮำหมัดด้วย ส่วนนายมัดยาสซินผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งหลบหนีไป เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาและดำเนินคดีแก่นายเอริสและนายมูฮำหมัดในข้อหาร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 24 หลอด และมีการออกหมายจับนายมัดยาสซิน แต่ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษายกฟ้องสำหรับนายเอริสจำเลยที่ 1 โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่นายเอริส ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ส่วนนายมูฮำหมัดจำเลยที่ 2 พิพากษาว่า มีความผิดฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีเฮโรอีน 1 หลอด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษจำคุกและปรับ แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ส่วนข้อหาอื่นของจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ให้ยกฟ้อง หลังจากนั้นวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดได้ธนบัตรไทย ธนบัตรมาเลเซีย สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และกุญแจรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อฮอนด้า จากผู้คัดค้านขณะขับรถจักรยานยนต์ออกมาจากบ้านพักของนางรอฟิอะห์ ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2556 เจ้าพนักงานตำรวจ กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส เข้าตรวจค้นบ้านพักของนางปารีดะ เลขที่ 251/140 แล้วยึดทรัพย์สิน ได้แก่ ธนบัตรไทย ธนบัตรมาเลเซีย สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาสุไหงโก-ลก ของนางรอฟิอะห์ และบัตรเอทีเอ็ม 1 ใบ คณะกรรมการธุรกรรมของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีความเห็นว่า ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินที่ยึดไว้ชั่วคราวรายนางปารีดะ กับพวกรวม 2 รายการ พร้อมดอกผล และทรัพย์ที่ยึดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) รายนางปารีดะกับพวกรวม 6 รายการ พร้อมดอกผล เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณา ผู้ร้องเห็นว่า ทรัพย์สินรวม 8 รายการ ของนางปารีดะกับพวก พร้อมดอกผล เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตาม มาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 8 รายการ พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน คู่ความไม่อุทธรณ์เกี่ยวกับทรัพย์รายการที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ทรัพย์สินดังกล่าวจึงยุติตามศาลชั้นต้นแล้ว

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ และทรัพย์รายการที่ 5 คือ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์ จำนวน 300,000 บาท และรายการที่ 6 คือ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถจักรยานยนต์ จำนวน 12,900 บาท ของผู้คัดค้านตามคำร้องนั้น เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งตามมาตรา 51 โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า

(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ

(2) ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ…”

มาตรา 51 บัญญัติว่า “เมื่อศาลทำการไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา 49 แล้ว หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคำร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ฟังไม่ขึ้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งที่เป็นเงินสดและเงินที่เกิดจากการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ ให้สำนักงานส่งเข้ากองทุนกึ่งหนึ่ง และส่งให้กระทรวงการคลังอีกกึ่งหนึ่ง ถ้าเป็นทรัพย์สินอื่นให้ดำเนินการตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ หากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี” ดังนี้ จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยความผิดอาญาและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่ตัวบุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐานเพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น เพียงแต่หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่ได้ถูกฟ้อง ก็ดำเนินมาตรการทางแพ่งแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้ ปรากฏตามคำให้การในชั้นสอบสวนของนางรอฟีอะห์มีรายละเอียดว่า พยานไม่เคยรู้จักนายมูฮำหมัดมาก่อน วันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านของพยานนั้น นายมูฮำหมัดมาที่บ้านพูดคุยถึงนายมัดยาสซินสามีของพยาน สักพักนายมูฮำหมัดเข้าห้องน้ำ เจ้าพนักงานตำรวจก็เข้ามาในบ้าน พยานไม่ทราบว่าเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการต่อนายเอริสและนายมูฮำหมัดอย่างไร นายมูฮำหมัดให้การในชั้นสอบสวนไว้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเฮโรอีน 1 หลอด ที่ตัวพยาน ส่วนอีก 24 หลอดนั้น นายเอริสให้การในชั้นสอบสวนว่าเป็นของนายมัดยาสซินบิดาเลี้ยงของตนนำมาซุกซ่อนไว้ที่บ้านดังกล่าวเพราะจำหน่ายเฮโรอีนอยู่เป็นประจำ คดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้เฮโรอีนลักษณะเดียวกัน 1 หลอด จากนายมูฮำหมัด กับอีก 24 หลอด จากบ้านที่เกิดเหตุ ซุกซ่อนอยู่ในช่องระบายอากาศของห้องน้ำกับหล่นจากช่องระบายอากาศของห้องน้ำตกอยู่บนไม้นอกบ้าน ลักษณะเป็นการเร่งซุกซ่อนไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจพบ ประกอบกับเมื่อฟังได้ว่านายมัดยาสซินผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งรีบร้อนหลบหนีออกจากบ้านจนมีการออกหมายจับไว้ เมื่อประมวลพยานหลักฐานดังกล่าวแล้ว น่าเชื่อว่านายมัดยาสซินจำหน่ายเฮโรอีน 1 หลอด ให้แก่นายมูฮำหมัดดังที่นายมูฮำหมัดให้การไว้ในชั้นสอบสวน โดยยังเหลือเฮโรอีนอีก 24 หลอด ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เป็นของกลางด้วย เมื่อเฮโรอีนจำนวน 24 หลอด ตรวจพบได้ที่บ้านของนายมัดยาสซินและนางรอฟีอะห์ในลักษณะที่มีการซุกซ่อน ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นและจับกุมนายมูฮำหมัดได้ในระหว่างที่ซื้อเฮโรอีนที่บ้านหลังนั้น จนกระทั่งศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาลงโทษนายมูฮำหมัดในความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบกับการที่นายเอริสให้การในชั้นสอบสวนว่า นายมัดยาสซินนำเฮโรอีนมาซุกซ่อนที่บ้านเพราะจำหน่ายเฮโรอีน จึงน่าเชื่อว่าเฮโรอีนจำนวน 24 หลอด นั้น เป็นของนายมัดยาสซิน โดยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (1) กรณีจึงฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานแล้ว เมื่อนายมัดยาสซินอยู่ในฐานะเป็นบิดาเลี้ยงของนายเอริสและผู้คัดค้าน นับว่าเป็นเครือญาติใกล้ชิดกันโดยการสมรส เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ว่านายมัดยาสซินเป็นผู้จำหน่ายเฮโรอีน 1 หลอด ให้แก่นายมูฮำหมัดดังกล่าวมาแล้ว โดยยังเหลือเฮโรอีนอีก 24 หลอด เก็บไว้ในบ้าน และพยายามซุกซ่อนไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบ โดยนายมัดยาสซินเร่งรีบหลบหนีไปเสียก่อนจนมีการออกหมายจับไว้ ต้องถือว่านางรอฟีอะห์ซึ่งเป็นภริยาของนายมัดยาสซินและพักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน เป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนายมัดยาสซิน นายเอริสซึ่งไปมาหาสู่นางรอฟีอะห์ที่บ้านของนายมัดยาสซินและอยู่ที่บ้านหลังนี้ขณะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุม จึงเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนายมัดยาสซินด้วย เมื่อประมวลข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วมารับฟังประกอบพฤติการณ์ที่นางรอฟีอะห์นำทรัพย์สินหลายรายการไปฝากให้นางปารีดะเก็บรักษาโดยมีบำเหน็จซึ่งเป็นเรื่องที่บุคคลทั่วไปไม่ประพฤติกันเช่นนี้ น่าเชื่อว่านายมัดยาสซินซึ่งจำหน่ายเฮโรอีนมาก่อนหน้านี้แล้วนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายเฮโรอีนให้นางรอฟีอะห์เก็บรักษาไว้ นางรอฟีอะห์จึงโยกย้ายทรัพย์สินฝากผู้อื่นไว้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เจ้าพนักงานตรวจพบนั่นเอง ผู้คัดค้านถูกเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นระหว่างที่ขับรถจักรยานยนต์นำเงินที่อ้างว่าฝากไว้ออกมาจากบ้านนางรอฟีอะห์ แสดงให้เห็นว่ายังคงไปมาหาสู่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนางรอฟีอะห์และนายมัดยาสซินอย่างใกล้ชิด เจ้าพนักงานตำรวจพบธนบัตรมาเลเซีย 100,450 ริงกิต กับธนบัตรไทยอีก 343,790 บาท ซุกซ่อนในกล่องนมนำมากับรถจักรยานยนต์ นับว่าเป็นเงินจำนวนมาก เป็นการไม่สมเหตุผลที่ผู้คัดค้านเก็บเงินที่อ้างว่าทำมาหาได้โดยสุจริตไว้กับตัวรวบรวมจนเป็นเงินจำนวนมากแล้วจึงนำมาฝากธนาคารในคราวเดียว เพราะผู้คัดค้านนำสืบว่ามีรายได้จากการค้าขายแต่ละครั้งไม่มากเท่าจำนวนที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึด เมื่อผู้คัดค้านเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนางรอฟีอะห์และนายมัดยาสซินบิดาเลี้ยง โดยนางรอฟีอะห์เป็นภริยาและอาศัยอยู่บ้านเดียวกันกับนายมัดยาสซินซึ่งมีพฤติการณ์จำหน่ายเฮโรอีนและใช้บ้านหลังดังกล่าวเป็นสถานที่ซุกซ่อนและจำหน่ายเฮโรอีนดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว การที่ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค สีขาว หมายเลขทะเบียน ญศ 7829 กรุงเทพมหานคร และรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นสกูปี้ไอ สีขาวน้ำตาล หมายเลขทะเบียน ขจก นราธิวาส 576 จึงมีภาระการพิสูจน์ตามกฎหมาย ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี เมื่อได้ความจากทางนำสืบของผู้คัดค้านเพียงว่า ผู้คัดค้านประกอบอาชีพค้าขายน้ำมัน และมีรายได้จากการขายผ้านวมประมาณเดือนละ 10,000 บาท รับซื้อน้ำมันพืชจากประเทศมาเลเซียเข้ามาขายในประเทศไทย ผู้คัดค้านเช่าร้านค้าเพื่อค้าขายอยู่ประเทศมาเลเซียมาประมาณ 10 ปี มีรายได้ประมาณเดือนละ 10,000 บาท ถึง 20,000 บาท ส่วนนายอัสรอมีรายได้จากการขายสินค้าประมาณเดือนละ 20,000 บาท ถึง 30,000 บาท ผู้คัดค้านและนายอัสรอยังเป็นตัวแทนของบริษัทสุรเสียง (ประเทศไทย) จำกัด รับจ้างบรรจุและจัดส่งดอกไม้เพลิงไปประเทศมาเลเซีย ประมาณปีละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท แต่ทางนำสืบของผู้คัดค้านไม่มีหลักฐานแสดงให้ปรากฏเชื่อมโยงกันได้ว่า ผู้คัดค้านซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ โดยนำเงินตามข้อกล่าวอ้างนั้นมาผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์อย่างไร ประกอบกับผู้คัดค้านเบิกความว่า ผู้คัดค้านไม่เคยเสียภาษีอากร เนื่องจากไม่ทราบว่าต้องดำเนินการอย่างไร จึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย พยานหลักฐานของผู้คัดค้านซึ่งมีภาระการพิสูจน์ที่นำสืบมานั้นจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ จึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ทรัพย์รายการที่ 5 คือ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์ จำนวน 300,000 บาท และรายการที่ 6 คือ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถจักรยานยนต์ จำนวน 12,900 บาท พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุปประเด็น

(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ

(2) ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ…”

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments