Home คดีครอบครัว หลักการที่ศาลฎีกา ใช้วินิจฉัยการยึดทรัพย์ในคดียาเสพติด

หลักการที่ศาลฎีกา ใช้วินิจฉัยการยึดทรัพย์ในคดียาเสพติด

1868

หลักการที่ศาลฎีกา ใช้วินิจฉัยการยึดทรัพย์ในคดียาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1 – 3/2563

เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้

หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานก็มีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ แม้ทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินได้มาก่อน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ครอบครองทรัพย์สินเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ได้ต่อไป แตกต่างจากหนี้ทางแพ่งที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ

การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 48 ถึงมาตรา 59 หาได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าผู้ร้องอาจดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยไม่มีอายุความจึงเป็นการแปลความกฎหมายของศาล มิใช่กรณีกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 212

การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินย้อนหลังไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับนั้น ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 – 41/2546 วินิจฉัยไว้ ซึ่งแม้เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็เป็นการวินิจฉัยเรื่องการมีผลใช้บังคับของกฎหมาย ซึ่งหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองคุ้มครอง มิได้เปลี่ยนแปลงยกเลิกไปจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรองคุ้มครอง เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้แล้ว จึงไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก

การที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 2 บัญญัติให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น บทบัญญัติมาตราดังกล่าวเพียงกำหนดว่าให้กฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อใด แต่เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว การกระทำใดอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มิได้แสดงว่ากฎหมายกำหนดมิให้มีผลบังคับย้อนหลังตามที่ผู้คัดค้านอ้าง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments