การขอหักวันรับโทษในการอุทธรณ์ฎีกา คดียาเสพติดมีวิธีการอย่างไร
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน ให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1735/2554 และ 1736/2554 ของศาลจังหวัดกระบี่ โดยไม่ให้หักวันคุมขัง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้หักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การที่ศาลจะสั่งให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล จึงไม่อาจหักวันถูกคุมขังให้ได้ ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้คดีนี้จะเป็นคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลหักวันคุมขังก่อนมีคำพิพากษาออกจากโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่คำร้องของจำเลยก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 ดังนี้ คดีของจำเลยจึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิให้ชักช้าและภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” ดังนี้เมื่อจำเลยฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyer.in.th