Home คดีครอบครัว ไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูในคดียาเสพติด ตำรวจและอัยการมีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่

ไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูในคดียาเสพติด ตำรวจและอัยการมีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่

3028

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า มูลคดีสืบเนื่องจาก เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดอุทัยธานีมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2554 ว่าจำเลยเป็นผู้เสพเห็นควรให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัวในโปรแกรมกลับคืนสู่สังคมของสำนักงานคุมประพฤติและกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัว 6 ครั้ง ภายใน 6 เดือน ทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง เข้าร่วมกิจกรรมป้องกันการเสพซ้ำ และห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิด ปรากฏว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดจนต้องมีการขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดออกไปถึง 5 ครั้ง พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือเตือนการรายงานตัวและติดตามสอดส่องจำเลย รวมทั้งขอผู้นำชุมชนและเพื่อนบ้านช่วยติดตามจำเลยมาพบเจ้าหน้าที่เพื่อรับการฟื้นฟู แต่จำเลยไม่มาพบ ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดอุทัยธานี มีคำสั่งที่ 525/2557 เรื่อง ขอยกเลิกแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยคณะอนุกรรมการเห็นว่าการให้โอกาสจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูเพื่อให้กลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคมโดยวิธีการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เหมาะสมและใช้ไม่ได้ผลกับจำเลย อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 13 (8), 25 ประกอบมาตรา 33 วรรคสอง วินิจฉัยว่าผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่พอใจ ให้แจ้งพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป เห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือว่าจำเลยเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 22 วรรคหนึ่งแล้ว แต่การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟู จนพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีหนังสือเตือนจำเลยให้มารายงานตัว รวมทั้งประสานผู้นำชุมชนและเพื่อนบ้านให้ช่วยติดตามจำเลย และยังขยายระยะเวลาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้จำเลยออกไปอีกถึง 5 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน จำเลยยังไม่มาพบเจ้าหน้าที่ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดสามารถนำเอาพฤติการณ์ของจำเลยมาพิจารณาว่า วิธีการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เหมาะกับจำเลย และวินิจฉัยว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยไม่เป็นที่พอใจ ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 13 (8), 25 ประกอบมาตรา 33 วรรคสอง คำสั่งของคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เรื่อง การพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่หากศาลฎีกาจะย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยใหม่ จะทำให้คดีล่าช้า เห็นควรพิจารณาพิพากษาในประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นผู้เสพยาเสพติด ซึ่งศาลให้โอกาสจำเลยเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกำหนดหลายครั้งโดยปราศจากเหตุผล ที่จำเลยอ้างว่าพยายามเลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำเลยไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าตั้งใจเลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริง เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การให้โอกาสจำเลยด้วยการรอการลงโทษจำคุกใช้ไม่ได้ผลกับจำเลย จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุก อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments