คำฟ้องอาญา ไม่ระบุวันเวลาโดยชัดแจ้ง ถือเป็นฟ้องเคลือบคลุมที่ไม่ชอบตามป.วิ.อ. ม. 158 หรือไม่
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ❯ มาตรา 158
คำพิพากษาฎีกาที่เคยตัดสิน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 279, 285 นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 143/2561, 144/2561, 145/2561, 146/2561, 147/2561, 148/2561, 149/2561, 151/2561, 152/2561, 153/2561 และ 154/2561 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณาเด็กหญิง ก. ผู้เสียหาย โดยนาย ญ. ที่ 1 และนาง ร. ที่ 2 ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต กับยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายต่อร่างกาย จิตใจและชื่อเสียง 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี และให้นับโทษจำเลยต่อโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 143/2561 หมายเลขแดงที่ 635/2561, หมายเลขดำที่ 144/2561 หมายเลขแดงที่ 661/2561, หมายเลขดำที่ 145/2561 หมายเลขแดงที่ 671/2561, หมายเลขดำที่ 146/2561 หมายเลขแดงที่ 699/2561, หมายเลขดำที่ 147/2561 หมายเลขแดงที่ 701/2561, หมายเลขดำที่ 148/2561 หมายเลขแดงที่ 657/2561, หมายเลขดำที่ 149/2561 หมายเลขแดงที่ 689/2561, หมายเลขดำที่ 151/2561 หมายเลขแดงที่ 598/2561, หมายเลขดำที่ 152/2561 หมายเลขแดงที่ 706/2561, หมายเลขดำที่ 153/2561 หมายเลขแดงที่ 708/2561 และหมายเลขดำที่ 154/2561 หมายเลขแดงที่ 707/2561 ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังยุติในเบื้องต้นว่า เด็กหญิง ก. โจทก์ร่วม เป็นบุตรของนาย ญ. และนาง ร. ขณะเกิดเหตุอายุ 7 ปีเศษ เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียน บ. โดยเป็นศิษย์อยู่ในความดูแลของจำเลยซึ่งเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนดังกล่าว
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยก่อนว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องระบุวันเวลากระทำความผิดของจำเลยว่าเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2560 เวลากลางวัน เดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคม เวลากลางวัน และระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลากลางวัน วันใดไม่ปรากฏชัด ซึ่งรวมเอาวันเสาร์และวันอาทิตย์เข้าไปด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นเพราะโจทก์ไม่อาจทราบวันกระทำความผิดที่แน่ชัดของจำเลยได้ อย่างไรก็ดี ถือเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ว่าการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนมีการเรียนการสอนตามปกติในเวลาราชการในช่วงระหว่างวันที่ซึ่งบรรยายไว้ในฟ้องข้างต้น อันเป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้น การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอีกลักษณะหนึ่งของการกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำความผิด ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) บัญญัติบังคับไว้ ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความได้เป็นลำดับขั้นตอนอย่างมีเหตุผล ตั้งแต่ที่ทราบเรื่องจากโจทก์ร่วม แล้วขยายผลทราบว่าเหตุยังเกิดแก่เด็กนักเรียนคนอื่น จนนำไปสู่การรวมตัวของผู้ปกครองขอให้ย้ายจำเลยออกจากโรงเรียนและมีการแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยในที่สุด โดยได้ความว่ามีผู้ปกครองนักเรียนรวม 21 ราย ที่กล่าวหาว่าบุตรของตนถูกจำเลยกระทำอนาจาร และภายหลังเฉพาะที่มีการแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยมีเด็กนักเรียนหญิงซึ่งเป็นผู้เสียหายรวม 12 คน เรื่องที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่าอับอายของครอบครัว ซึ่งเมื่อโจทก์ร่วมหรือแม้แต่เด็กนักเรียนหญิงคนอื่นที่ถูกจำเลยล่วงละเมิดได้ทราบแน่ชัดจากผู้ปกครองถึงสิ่งที่ตนถูกกระทำแล้วว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี น่ารังเกียจ กรณีย่อมต้องส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และอาจจำฝังใจไปจนเติบโตว่าเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากครูของตนเอง กลายเป็นปมส่งผลต่อบุคลิกภาพและทัศนคติที่มีต่อผู้ให้การศึกษาในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าไม่มีผู้ปกครองคนใดต้องการให้บุตรหลานของตนตกอยู่สภาพเช่นนั้นรวมทั้งนาย น. และนาย ญ. ด้วย ฉะนั้น ลำพังข้อพิพาทเรื่องหนี้สินระหว่างนาย น. กับจำเลยซึ่งเป็นเรื่องระหว่างผู้ใหญ่ที่ว่ากล่าวกันเองได้อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดที่นาย น. และนาย ญ. ต้องนำเอาโจทก์ร่วมบุตรหลานของตนซึ่งเป็นเด็กไร้เดียงสามาเป็นเครื่องมือเพียงแค่ต้องการจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือแม้กระทั่งทำลายชื่อเสียงจำเลยดังที่จำเลยฎีกา เนื่องจากเห็นได้ว่าไม่คุ้มกัน เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของผู้ปกครองคนอื่น ๆ ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีข้อบาดหมางอย่างใดกับจำเลย ยิ่งไม่มีเหตุผลที่จะนำเอาชื่อเสียงและสภาพจิตใจบุตรหลานของตนที่ต้องเสื่อมเสียมาแลกเพียงเพราะถูกเสี้ยมสอนยุยงจากนาย น. การมาประชุมร่วมกันของเหล่าผู้ปกครองและบุตรหลานที่บ้านของนาย น. เพื่อดำเนินการแก่จำเลย จึงถือเป็นเรื่องปกติของเหล่าผู้เสียหายจากการกระทำความผิดเหมือน ๆ กันที่รวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อปรึกษาหารือถึงแนวทางดำเนินคดี แม้ในที่ประชุมจะมีการบอกให้เด็กนักเรียนพูดจาให้ตรงกันดังข้อฎีกาของจำเลย ก็หาใช่ข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ร่วมถูกเสี้ยมสอนให้มาเบิกความปรักปรำจำเลยไม่ เนื่องจากเด็กนักเรียนซึ่งถูกจำเลยกระทำอนาจารมีด้วยกันหลายคน รายละเอียดวิธีการและช่วงเวลาการกระทำอนาจารนักเรียนแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป ไม่อาจพูดตรงกันได้อยู่ในตัว การพูดให้ตรงกันเป็นเพียงการย้ำเตือนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายคนอื่นให้พูดตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและตรงกับที่บอกผู้ปกครองของแต่ละคนเท่านั้น จำเลยจึงหาอาจยกเอาการประชุมดังกล่าวว่าเป็นการเสี้ยมสอนโจทก์ร่วมให้ใส่ความจำเลยขึ้นเป็นข้อกล่าวอ้างถึงความมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยของโจทก์ร่วมได้ ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่จำเลยมีคำให้การพยานโจทก์ปากนาย ว. ผู้อำนวยการโรงเรียน บ. ในคดีอื่นซึ่งจำเลยถูกฟ้องในข้อหาเดียวกันนี้มานำสืบยืนยันถึงความประพฤติของจำเลยว่าไม่มีข้อเสื่อมเสียก็ดี หรือมีนางสาว ส. ครูโรงเรียนเดียวกับจำเลยมาเบิกความเป็นพยานจำเลยถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับนักเรียนที่มีความใกล้ชิดกัน เนื่องจากจำเลยใช้วิธีการเรียนการสอนแบบเรียนปนเล่น เล่นปนเรียน ซึ่งจะมีการหยอกล้อระหว่างครูผู้สอนกับเด็กนักเรียน โดยบางครั้งนางสาวสุกัญญายังเห็นเด็กนักเรียนหญิงแย่งกันขึ้นไปนั่งบนตักของจำเลยในเวลาสอนหนังสือด้วยก็ดี แต่ก็หาใช่ข้อยืนยันว่าจำเลยมิได้กระทำอนาจารโจทก์ร่วม เนื่องจากพยานจำเลยเหล่านี้มิได้อยู่รู้เห็นพฤติกรรมของจำเลยที่มีต่อเด็กนักเรียนตลอดเวลา โดยเฉพาะพฤติการณ์อันจำเลยแสดงออกให้ปรากฏแก่บุคคลทั่วไปดังกล่าว กลับตอกย้ำให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจำเลยลอบกระทำการอันไม่สมควรทางเพศกับเด็กนักเรียนแฝงเร้นอยู่ในวิธีการเรียนการสอนที่จำเลยมักอ้างอยู่เสมอว่าใช้หลักเรียนปนเล่น เล่นปนเรียนได้อย่างแนบเนียนจนไม่มีผู้สังเกตได้ พยานจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักสนับสนุนพยานหลักฐานจำเลยให้น่าเชื่อถือได้ และที่จำเลยฎีกาต่อสู้อีกว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ 689/2561 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยถูกฟ้องในข้อหาทำนองเดียวกับคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยถูกฟ้องในข้อหากระทำอนาจารศิษย์ที่อยู่ในความดูแลทั้งสิ้น 12 คดี ซึ่งผู้เสียหายในแต่ละคดีเป็นผู้เสียหายต่างคนกัน กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลในคดีนั้น ๆ ต้องวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในสำนวนว่าสามารถรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ในแต่ละคดีซึ่งย่อมแตกต่างกันออกไป ไม่จำเป็นที่ศาลทุกคดีจะต้องมีคำวินิจฉัยเป็นเช่นเดียวกัน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชื่อฟังคำเบิกความของโจทก์ร่วมแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
สำหรับข้อฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลดค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ร่วมให้น้อยกว่า 50,000 บาท นั้น เมื่อปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องนี้ การที่จำเลยกลับฎีกาในปัญหาการกำหนดค่าสินไหมทดแทนขึ้นมาอีก จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกให้นั้น เห็นว่า จำเลยเป็นครูบาอาจารย์ สมควรประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของเด็กนักเรียน ยิ่งเฉพาะกับศิษย์ซึ่งอยู่ในความปกครองดูแลเป็นเด็กเล็ก ซึ่งบิดามารดาให้ความไว้วางใจมอบหมายหน้าที่ให้จำเลยคอยให้การศึกษาและช่วยเหลือกล่อมเกลา สร้างสมนิสัยให้เป็นคนดี แต่จำเลยกลับฉวยโอกาสที่มีหน้าที่และความใกล้ชิดกับเด็กสนองอารมณ์ใคร่ของตนเองโดยอาศัยความอ่อนแอและไม่ประสาต่อโลกของเด็กนักเรียนผู้เป็นศิษย์ พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับจำเลยอุทธรณ์และฎีกาต่อสู้คดีมาโดยตลอด หาได้สำนึกในความผิดที่ตนเองได้กระทำ จึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย อย่างไรก็ดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี นั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 9 ให้แก้ไขมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยบัญญัติความผิดฐานการกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้เด็กนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ไว้ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวว่า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หนักกว่าโทษในความผิดฐานเดียวกันที่กำหนดไว้ในมาตรา 279 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามกฎหมายซึ่งใช้บังคับในขณะจำเลยกระทำความผิดซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 285 จำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทงเป็นจำคุก 24 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
สรุป
โจทก์บรรยายฟ้องระบุวันเวลากระทำความผิดของจำเลยว่าเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคม 2560 เวลากลางวัน และระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลากลางวัน วันใดไม่ปรากฏชัด ซึ่งรวมเอาวันเสาร์และวันอาทิตย์เข้าไปด้วย แต่ก็เป็นเพราะโจทก์ไม่อาจทราบวันกระทำความผิดที่แน่ชัดของจำเลยได้ อย่างไรก็ดี ถือเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนมีการเรียนการสอนตามปกติในเวลาราชการในช่วงระหว่างวันที่ซึ่งบรรยายไว้ในฟ้อง อันเป็นเพียงรายละเอียด การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงเป็นอีกลักษณะหนึ่งของการกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำความผิด ดังที่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) บังคับไว้ ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลนไอดี @lawyers.in.th