คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจในคดีรับเหมาก่อสร้าง
ประเด็น ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ติดอยู่กับพื้นดิน อายุความเพียง 1 ปีนับแต่วันส่งมอบเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 7116/2538
ตามสัญญาจ้างปรับปรุงพื้นดาดฟ้าหลังคาซ่อมแซมห้องน้ำห้องส้วมของธนาคารโจทก์ ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ก่อนแล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายใน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รับมอบงาน เมื่อมีรอยแตกร้าวบนพื้นดาดฟ้าเกิดขึ้นภายใน 1 ปี จำเลยได้ซ่อมแซมและโจทก์รับมอบงานซ่อมแซมหน้า จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในรอยแตกร้ายเดิมที่เกิดขึ้นอีกเมื่อพ้น 1 ปีแล้ว และความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการปรับปรุงพื้นดาดฟ้าหลังคาเช่นนี้ก็ไม่ใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน ซึ่งผู้รับจ้างต้องรับผิดภายใน 5 ปีนับแต่วันส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 วรรคแรกด้วย
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3537/2525
โจทก์ก่อสร้างอาคารตามข้อตกลงในสัญญารวมทั้งส่วนที่ตกลงเพิ่มเติมให้จำเลยเสร็จแล้ว แต่ปรากฏว่าตัวอาคารมีรอยร้าวตามส่วนต่างๆ หลายแห่งอันควรจะต้องได้รับการแก้ไขอันแสดงถึงผลงานที่ไม่เรียบร้อย และโจทก์ไม่หาประกันมาให้จำเลยตามที่เรียกร้องได้ จำเลยจึงชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 599 ส่วนค่าจ้างเกี่ยวกับการก่อสร้างเพิ่มเติมนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อชำรุดบกพร่องแต่อย่างใด จำเลยก็ต้องชำระสินจ้างในส่วนนี้แก่โจทก์
ประเด็น สิทธิเรียกร้องเงินประกันผลงาน อายุความ 10 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6335/2550
เงินประกันผลงานที่จำเลยหักจากค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้โจทก์ในแต่ละงวดเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยในฐานะคู่สัญญาประสงค์จะใช้เป็นหลักประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างค้างชำระที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายใน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
ประเด็น ผู้ว่าจ้างยอมรับมอบงานที่ทำ โดยมิได้อิดเอื้อนผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า คู่สัญญามิได้ถือเอาระยะเวลาตามที่กำหนดในสัญญาเป็นสาระสำคัญจึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3012/2552
นอกจากงานก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำงานเพิ่มเติมไปจากสัญญา ซึ่งโจทก์ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งงานงวดที่ 14 และที่ 15 โจทก์ส่งมอบพร้อมกันภายหลังล่วงพ้นระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่างวดทั้งสองงวดให้โจทก์โดยไม่ปรากฏว่าในขณะรับมอบงานจำเลยที่ 1 ได้อิดเอื้อนหรือสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไว้ การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้บอกโจทก์แล้วว่าจะมีคนมาใช้ประโยชน์ในอาคารที่ก่อสร้างก็เป็นเพียงคำปรารภหาใช่เป็นการสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไม่
การที่จำเลยที่ 1 รับมอบงานงวดที่ 14 และที่ 15 ทั้งที่ระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้วและให้โจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ 16 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายต่อไป ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสำคัญ ทั้งมีงานที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำนอกเหนือสัญญาด้วย จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการส่งมอบงานล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามสัญญานี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีเจตนาให้ระงับกันไปไม่ถือเป็นการผิดสัญญา จึงทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับที่โจทก์ส่งมอบงานพ้นกำหนดเวลาสิ้นสุดตามสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม และมาตรา 597
ประเด็น กรณีถือว่า รับมอบงานโดยอิดเอื้อนแล้ว ได้สงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลาชำระหนี้แล้ว ผู้ว่าจ้างจึงมีสิทธิเรียกค่าปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2919/2540
ในวันส่งมอบงานมีการโต้แย้งกันเรื่องค่าจ้าง จึงมิใช่โจทก์รับมอบงานโดยไม่อิดเอื้อน และบันทึกที่จำเลยที่ 1ส่งมอบงานให้โจทก์ระบุว่าค่าปรับจำเลยที่ 1 ขอผัดผ่อนไปก่อนโจทก์ขอสงวนสิทธิไว้เพื่อจะเรียกร้องต่อไป ดังนี้จึงฟังได้ว่า โจทก์ได้สงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลาชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสองได้ โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ทำงานผิดพลาดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1มาจัดการซ่อมแซม แต่จำเลยที่ 1 ไม่มาทำ โจทก์ต้องไปจ้างช่างอื่นมาทำให้ใหม่ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์รวมเป็นเงิน 67,650 บาท ซึ่งเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ารายการเกี่ยวกับการทาสีบ้าน บันไดหลุดหลวม ก๊อกน้ำโถส้วม ปูนฉาบบ้านร้าวขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์ว่ารายการดังกล่าวไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความจึงไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับความเสียหายดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายในรายการดังกล่าวหรือไม่โดยไม่ส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1)ประกอบมาตรา 247 บ้านโจทก์ชำรุดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 มาทำการซ่อมแซมแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่มา โจทก์จึงมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานแทนจำเลยที่ 1 ได้และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ทำการซ่อมแซม จำเลยที่ 1จึงผิดสัญญาข้อ 6 แม้โจทก์จะยังไม่ได้จ้างบุคคลอื่นซ่อมแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ก็เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างบุคคลอื่นทำแทนจำเลยที่ 1 จากจำเลยทั้งสองได้ แต่ตามสัญญาก่อสร้างไม่ได้ระบุว่า ช่องหลังคาต้องป้องกันค้างคาวได้ จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับรายการดังกล่าว เมื่อปัญหาได้ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าซ่อมรางน้ำฝนและเพดานโดยกำหนดให้จำนวน 2,500 บาท ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยอีกว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรางน้ำฝนและเพดาน และถือว่าปัญหานี้เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ประเด็น การคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่อง หรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญาเพราะความผิดของผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญาภายในเวลาอันสมควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไป ผู้ว่าจ้างจะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสียความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2538
โจทก์กล่าวในคำฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยอันเป็นการผิดสัญญาจ้างทำของ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหลายรายการ แต่โจทก์คิดเพียง 400,000 บาท โดยแนบภาพถ่ายทาวน์เฮาส์ เครื่องโม่ปูนวัสดุก่อสร้างที่เหลือ บ้านพักคนงาน รวมทั้งสิ่งก่อสร้างตามโครงการก่อสร้างของจำเลยที่ถนนเทพารักษ์มาท้ายฟ้องด้วยแม้มิได้บรรยายว่าโจทก์เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใด ทำงานเสร็จไปถึงงวดที่เท่าใดวัสดุก่อสร้างที่เหลืออยู่ จำนวนและราคาเท่าใดและการว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างที่เทพารักษ์ มีหลักฐานอย่างใด ก็ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ใช่สภาพแห่งข้อหา ไม่จำต้องกล่าวในฟ้องทั้งเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ จำเลยต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้วคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม กรณีเพิ่งเริ่มงานตามสัญญา จำเลยก็ไม่ประสงค์ให้โจทก์ทำการก่อสร้าง เหตุบอกเลิกสัญญา ก็อ้างเหตุโจทก์ทิ้งงานเท่านั้น ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จ และโจทก์เองมิได้ทอดทิ้งงาน ส่วนเรื่องโจทก์ก่อสร้างผิดแบบผิดหลักวิชาการก็รับฟังไม่ได้ ดังนี้เมื่อ สัญญาจ้างยังไม่ถึงกำหนด และจำเลยผู้ว่าจ้างเห็นว่าหากให้ โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไปจะเกิดความเสียหายเพราะงานล่าช้างานจำเลยจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 แต่จำเลยก็มิได้ทำเช่นนั้น จึงบอกเลิกสัญญาโดยเหตุดังกล่าวไม่ได้ การที่โจทก์ขอทำการก่อสร้างต่อไปและจำเลยไม่ยอมโดยว่าจ้างผู้อื่นก่อสร้างต่อไปและให้เลิกสัญญา จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้ แต่เป็นเรื่องจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ และต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง กรณีจ้างทำของเมื่อจำเลยผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาเองโดยโจทก์ผู้รับจ้างไม่ได้ทำผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 605 ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยต้องรื้อถอนซ่อมแซมและเสียค่าก่อสร้างบ้านจนแล้วเสร็จ เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้ โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การและฟ้องแย้ง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งแล้ว ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้องโดยมิได้พิพากษายกฟ้องแย้งด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสีย ให้ถูกต้อง