Home คดีครอบครัว หมิ่นประมาททางแพ่งกับทางอาญา มีความแตกต่างกันอย่างไร

หมิ่นประมาททางแพ่งกับทางอาญา มีความแตกต่างกันอย่างไร

11494

หมิ่นประมาททางแพ่งกับทางอาญา มีความแตกต่างกันอย่างไร

บทนำ

กราบสวัสดี ท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทางทีมงานทนายความกฤษดา จะมาแนะนำเกี่ยวกับ กรณีหมิ่นประมาททางแพ่งกับทางอาญา มีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่ง

มีหลักและข้อพิจารณาอย่างไร สามารถพิจารณาได้ดังนี้ 

การฟ้องคดีหมิ่นประมาทแม้จะมีบทบัญญัติทั้งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายอาญา ที่ให้สิทธิแก่โจทก์ในการฟ้องคดีได้เหมือนกันแต่ในการหมิ่นประมาททางแพ่งและทางอาญานั้นมีความแตกต่างกันทั้งในด้านขององค์ประกอบต่างๆ ไปจนถึงเรื่องอายุความ ดังนี้

1.การฟ้องคดีหมิ่นประมาทในทางแพ่งนั้นการฟ้องคดีเพื่อให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายในชื่อเสียงหรือเกียรติคุณ หรือทางทํามาหาได้ หรือทางเจริญ ของโจทก์ ส่วนทางอาญานั้นจะเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา

2.การฟ้องคดีแพ่งเองจะมีค่าธรรมเนียมศาล ต่างจากทางอาญาที่จะไม่มีค่าธรรมเนียมศาล รวมทั้งในกรณีที่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนนคดีอัยการเป็นผู้ฟ้องคดี และร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 ด้วย (เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้เสียหายเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดําเนินคดีโดยไม่สุจริต ศาลอาจสั่งให้ผู้เสียหายชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือบาส่วนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253)

3.องค์ประกอบของการกระทำความผิด ในทางแพ่งจะต้องข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง(เรื่องไม่จริงเท่านั้น) โดยจะมีข้อยกเว้นคือจะไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหากผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบด้วยกฎหมายกับผู้ส่งข่าวสาร ส่วนในทางอาญาไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริงก็เป็นการหมิ่นประมาท เพียงแต่ในทางอาญาหากจำเลยพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่กล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องจริงก็จะเป็นการยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 330 และยังมีข้อยกเว้นความผิดในมาตรา 329 ด้วย

4.การหมิ่นประมาททางแพ่งไม่ว่าจะเป็นการหมิ่นประมาทโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ล้วนแต่เป็นการหมิ่นประมาท ต่างจากการหมิ่นประมาทในทางอาญาที่จะต้องเป็นการหมิ่นประมาทที่เป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น ในทางอาญาจึงไม่มีการหมิ่นประมาทโดยประมาท

5.ในการหมิ่นประมาททางแพ่งคำขอที่จะขอให้ศาลบังคับกับจำเลยคือให้จัดการตามควรเพื่อทําให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีแทนให้ใช้ค่าเสียหาย หรือให้ใช้ค่าเสียหายด้วยก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 447 ส่วนทางอาญาศาลจะสั่งให้ยึด และทําลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท หรือ ให้โฆษณาคําพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จําเลยเป็นผู้ชําระค่าโฆษณาได้ (ไม่รวมให้จำเลยโฆษณาคำขอโทษโจทก์) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332

6.อายุความ ในทางแพ่งนั้นมีอายุความ 1 ปี นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้ทำละเมิด หรือ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ในทางอาญานั้นมีอายุความ 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทําความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @LAWYERS.IN.TH

 

 

Facebook Comments