Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ รถยางแตกแล้วจอดข้างทางในเวลากลางคืน ถูกรถขับมาชนด้วยความเร็วสูงต้องรับผิดหรือไม่

รถยางแตกแล้วจอดข้างทางในเวลากลางคืน ถูกรถขับมาชนด้วยความเร็วสูงต้องรับผิดหรือไม่

3104

รถยางแตกแล้วจอดข้างทางในเวลากลางคืน ถูกรถขับมาชนด้วยความเร็วสูงต้องรับผิดหรือไม่

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน  โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา  จะมาขอแนะนำประเด็นข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่า รถยางแตกแล้วจอดข้างทางในเวลากลางคืน ถูกรถขับมาชนด้วยความเร็วสูงต้องรับผิดหรือไม่ ซึ่งมีจุดในข้อควรระวังอย่างไรบ้าง เชิญอ่านได้เลยครับ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ความว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2521 นายสง่า ศิริกุลได้นำรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน จ.บ. 11039 ไปประกันภัยไว้กับโจทก์ทุนประกัน 100,000 บาท กำหนดเวลาคุ้มครอง 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2521 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถเก๋งยี่ห้อเบ๊นซ์คันหมายเลขทะเบียน 9 ข – 6199 วันที่ 8 เมษายน 2522 เวลาประมาณ 4.30 นาฬิกา นายสมหมาย กำจัดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถเก๋งคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยความประมาท โดยขับด้วยความเร็วสูงชนท้ายรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน จ.บ. 11039 ซึ่งจอดอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ท้ายรถยนต์บรรทุกและรถเก๋ง นายสมหมายและหญิงคนหนึ่งซึ่งโดยสารมาในรถเก๋งถึงแก่กรรม ร้อยตำรวจเอกธำรง สาริกัลยะเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระยองไปดูที่เกิดเหตุและถ่ายรูปที่ชนกันไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.2 มีรอยห้ามล้อของรถเก๋งก่อนที่จะชนรถยนต์บรรทุก

พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า เหตุที่รถชนกันเกิดเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์บรรทุกด้วยหรือไม่เพียงใด นายวิทยา อาศัยซึ่งเป็นตัวแทนประกันภัยของบริษัทโจทก์ประจำจังหวัดระยองเบิกความว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 8 นาฬิกา ผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปแจ้งต่อพยานว่า รถคันที่เขาขับบรรทุกข้าวโพดเต็มคันรถเมื่อไปถึงตำบลทับมาห่างจากจังหวัดระยอง 3-4 กิโลเมตร ยางรถแตกเขาจอดรถไว้ข้างทางและติดไฟไว้ขณะกำลังเปลี่ยนบางก็มีรถเก๋งแล่นมาชนท้ายรถคันที่เขาขับ พยานพร้อมด้วยนายสมศักดิ์พนักงานอุบัติเหตุของโจทก์ไปดูที่เกิดเหตุพบรถยนต์บรรทุกจอดอยู่บนไหล่ทางด้านซ้าย ส่วนรถเก๋งมีผู้ยกไปจอดไว้ข้างทางด้านขวา ร้อยตำรวจเอกธำรงบอกพยานว่ารถเก๋งขับมาเร็วมาก สงสัยว่าคนขับจะหลับในแต่ตามภาพถ่ายหมาย จ.2 ภาพที่ 3 แสดงว่า ขณะเกิดเหตุรถยนต์บรรทุกจอดอยู่บนผิดจราจร มิใช่จอดอยู่บนไหล่ถนนตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง และตามที่นายวิทยาเบิกความ การที่ปรากฏรอยห้ามล้อของรถเก๋งก่อนที่จะชนรถยนต์บรรทุกก็แสดงว่าคนขับรถเก๋งไม่ได้หลับใน เพราะหากคนขับรถเก๋งหลับในก็จะไม่สามารถห้ามล้อได้ ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรถยนต์บรรทุกไม่ได้เปิดสัญญาณไฟ และหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 เบิกความว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางตรง ถ้าคนขับรถยนต์บรรทุกเปิดไฟท้ายไว้ นายสมหมายคนขับรถเก๋งจะสามารถเห็นได้ในระยะไกล ทั้งไฟสูงของรถเก๋งส่องได้ไกลถึง 50 เมตร รอยห้ามล้อขอรถเก๋งตามภาพถ่ายหมาย จ.2 ยาว 30 เมตรแสดงว่านายสมหมายเห็นรถยนต์บรรทุกในระยะกระชั้นชิด คำขอหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมีร้อยตำรวจเอก ธำรงพยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่าบริเวณที่เกิดเหตุถนนเป็นทางตรงในเวลากลางคืนถ้ารถยนต์เบ๊นซ์ เปิดไฟสูงอาจมองเห็นสิ่งกีดขวางข้างหน้าได้ประมาณ 200 เมตร ศาลฎีกาเห็นว่า รถยนต์บรรทุกจอดอยู่บนผิดจราจรในเวลากลางคืน และในบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีแสงสว่างส่องไปถึงให้เห็นรถยนต์คันดังกล่าวได้ในระยะไกลห้าสิบเมตรผู้ขับรถยนต์บรรทุกต้องเปิดหรือจุดไฟให้มีแสงพอให้เห็นว่ารถนั้นจอดอยู่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2477 มาตรา 23 วรรคแรก ข้อที่ว่าผู้ขับรถยนต์บรรทุกได้เปิดหรือจุดไฟไว้หรือไม่นั้นโจทก์มีนายวิทยาเพียงคนเดียวที่เบิกความว่า ผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุแจ้งต่อพยานว่าขณะจอดรถไว้ข้างทางเขาติดไฟไว้ ประกอบกับบริเวณที่เกิดเหตุถนนเป็นทางตรง และแสงไฟสูงของรถเก๋งสามารถส่องได้ไกลไม่น้อยกว่า 50 เมตร ถ้าหากรถยนต์บรรทุกให้สัญญาณไฟไว้ นายสมหมายก็คงจะเห็นรถยนต์บรรทุกได้ในระยะไกลพอสมควรและสามารถห้ามล้อรถให้หยุดได้ทันท่วงที การที่เพิ่งมีรอยห้ามล้อของรถเก๋งในระยะห่างรถยนต์บรรทุกประมาณ 30 เมตร แสดงว่านายสมหมายเห็นรถยนต์บรรทุกในระยะกระชั้นชิด ข้อเท็จจริงเชื่อว่ารถยนต์บรรทุกไม่ได้ให้สัญญาณไฟไว้ เหตุที่รถชนกันจึงเกิดเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์บรรทุกด้วย เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของนายสมหมายและผู้ขับรถยนต์บรรทุกแล้ว เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายมีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ศาลล่างทั้งสองให้ค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้แก่กันเป็นพับชอบแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป ยางรถยนต์บรรทุกแตก คนขับจึงจอดรถบนผิวจราจรถนนที่เป็นทางตรงในเวลากลางคืนโดยไม่ให้สัญญาณไฟ แสงไฟสูงของรถเก๋งส่องได้ไกลไม่น้อยกว่า 50 เมตร การที่เพิ่งเริ่มมีรอยห้ามล้อของรถเก๋งในระยะห่างรถบรรทุกประมาณ 30 เมตรแสดงว่าคนขับรถเก๋งซึ่งขับด้วยความเร็วสูงเห็นรถบรรทุกในระยะกระชั้นชิด เหตุที่รถชนกันจึงเกิดเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์บรรทุกด้วยดังนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้แก่กันจึงเป็นพับทั้งสองฝ่าย

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายฟ้องประกัน

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935
Facebook Comments